SIAM เตรียมเข้าซื้อกิจการ “บางพระกรีนเอนเนอร์จี” ทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น
SIAM เตรียมเข้าซื้อกิจการ "บางพระกรีนเอนเนอร์จี" ผู้ดำเนินธุรกิจโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น มูลค่าราว 2.5 ลบ.
บริษัท สยามสตีลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ SIAM ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (27 ม.ค.) อนุมัติให้บริษัท สยามอินเตอร์เนเชั่นแนล เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าซื้อหุ้น 100% ใน BGE ในราคาเท่ากับหุ้นที่ชำระแล้วหุ้นละ 2.50 บาท เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,499,995 บาท จากผู้ถือหุ้นเดิม 1 ราย นอกจากนี้ยังอนุมัติให้บริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนลเอนเนอร์จี จำกัด เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท จากเดิม 1 ล้านบาท ซึ่ง SIAM จะรักษาสัดส่วนการถือหุ้นระดับเดิมที่ 100% เพื่อนำเงินไปใช้ซื้อหุ้น BGE และรองรับการขยายธุรกิจ
ขณะที่ BGE จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 40 ล้านบาท จากเดิม 10 ล้านบาท โดยเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 30 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญจำนวน 3 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท ชำระค่าหุ้น 25% ของทุนจดทะเบียน รวมเป็นเงิน 7.5 ล้านบาท ซึ่ง SIAM จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นในระดับเดิม 100% โดยการเพิ่มทุนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในบริษัทย่อยทางอ้อม
สำหรับ BGE เป็นบริษัทโฮลดิ้งและมีเงินลงทุน 1 บริษัท คือ RSE ซึ่งลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โครงการ Miyagi Solar Project ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15.17 เมกะวัตต์ โดยมีมูลค่ารวมของโครงการประมาณ 1,358.18 ล้านบาท หรือ 4,467 ล้านเยน คาดว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จ และจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ภายในช่วงไตรมาส 3/60
ทั้งนี้ โครงการมี Tohoku Electric Power เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าตามสัญญาเป็นเวลา 20 ปี นับจากวันที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff (FiT) หน่วยละ 36 เยน
โดยการลงทุนใน BGE จะเป็นการเริ่มต้นการขยายธุรกิจพลังงานทดแทนของบริษัท เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงและเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจ โดยโครงการ Miyagi เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง BGE เป็นผู้ติดต่อและเจรจาการลงทุนใน RSE บริษัทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องซื้อหุ้น BGE เพื่อให้ได้มาซึ่งโครงการดังกล่าว
สำหรับแหล่งเงินทุนในโครงการ จะใช้เงินทุนหมุนเวียนในการซื้อหุ้น BGE ขณะที่เงินในการพัฒนาโครงการ Miyagi จะใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินที่ญี่ปุ่น ราว 80% ของมูลค่าโครงการ ร่วมกับเงินกู้และเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทอีกประมาณ 20%