THG ร่วง 16% เซ่นเจอ 2 บริษัทลูกผิดปกติ สั่งตรวจสอบงบ Q3/67 ด่วน!
THG รูดกว่า 16% นิวโลว์รอบ 3 ปี 10 เดือน หลังบอร์ด THG ลงมติให้แจ้งตลาดฯ เหตุพบความผิดปกติการทำรายการ 2 บริษัทย่อย (เชื่อมโยงครอบครัววนาสิน) กรณีการกู้ยืมเงินภายใน สั่งสินค้าแต่ไม่มีการรับมอบสินค้าจริง แถมยอดหนี้คงค้าง 105 ล้านบาท สั่งผู้สอบบัญชีตรวจงบ Q3/67 ละเอียดยิบ ฟาก “หมอบุญ” แจงมีการดำเนินคดีแล้ว เชื่อความเสียหายนี้จะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 ก.ย.67) ราคาหุ้น บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ณ เวลา 10:12 น. อยู่ที่ระดับ 21.10 บาท ลบ 4.15 บาท หรือ 16.44% สูงสุดที่ระดับ 21.70 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 19.10 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 55.44 ล้านบาท โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุด (นิวโลว์) อีกครั้งในรอบ 3 ปี 10 เดือน นับตั้งแต่ราคาปิดที่ระดับ 20.90 บาท เมื่อวันที่ 23 พ.ย.63
ด้าน นางสาวณัฐธกานต์ จิตติณพัฒน์ เลขานุการ THG เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทตรวจพบรายการอันควรสงสัย กล่าวคือ
1.วันที่ 23 ส.ค. 2567 คณะกรรมการตรวจสอบบริษัท ได้รับทราบข้อมูลการทำรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อย 2 แห่ง คือ บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด (THB) ซึ่งบริษัทถือหุ้น 83.03% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และบริษัท ที เอช เฮลท์ จำกัด (THH) ซึ่งบริษัทถือหุ้น 51.22% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
2.การทำรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อยดังกล่าว ประกอบด้วย
1) การที่ THB และ THH ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด (RTD) ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่มครอบครัววนาสินเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ช่วงเดือนธันวาคมปี 2565-2566 จำนวนทั้งสิ้น 6 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 145 ล้านบาท
2) การที่ THB ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ RTD เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 1 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 10 ล้านบาท 3)การที่ THH สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริงในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 2 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 55 ล้านบาท
3) การเข้าทำรายการอันควรสงสัยตามข้อ 2 ข้างต้น เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายบริหารบางส่วนของบริษัทย่อย ซึ่งเป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทย่อย ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศเรื่องรายการที่เกี่ยวโยงกันของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ฯ และไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัท
4) ปัจจุบันยอดหนี้คงค้างของรายการอันควรสงสัยดังกล่าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 105 ล้านบาท (ไม่นับรวมดอกเบี้ย)
5) บริษัทได้แจ้งให้ผู้สอบบัญชีของบริษัททราบถึงรายการอันควรสงสัยดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 และบริษัทขอให้ผู้สอบบัญชีให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายการอันควรสงสัยดังกล่าว โดยบริษัทคาคว่าหากมีผลกระทบจะสามารถเปิดเผยผลกระทบทางการเงินนี้ได้ในงบการเงินรวมของไตรมาส 3/2567 ที่กำลังจะจัดทำและเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบต่อไป
6) บริษัทได้เริ่มดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์ที่ตรวจพบ เพื่อรักษามาตรฐานการบริหารจัดการ ดังนี้
6.1) บริษัทได้โยกย้ายบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำรายการอันควรสงสัยดังกล่าวให้ออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องโดยทันที
6.2) บริษัทได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง และอยู่ระหว่างการดำเนินการทางวินัย และ/หรือทางกฎหมายต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำรายการอันควรสงสัยดังกล่าวจนถึงที่สุด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น
6.3) บริษัทได้เน้นย้ำและกำชับให้บุคลากรของบริษัทและบริษัทย่อย ปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทย่อยอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการทางวินัย และ/หรือทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด
6.4) บริษัทอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นต่อฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงานและความเสี่ยงโดยรวมของบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะยาว การวิเคราะห์ดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งด้านการเงิน การดำเนินธุรกิจ และความเสี่ยงด้านกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้บริษัทอาจพิจารณาว่าจ้างที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกตามความเหมาะสมเพื่อให้ความช่วยเหลือในการวางแผนแก้ไขและป้องกันความเสี่ยงเพิ่มเติม
7) คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นควรให้มีการรายงานการเกิดขึ้นของรายการอันควรสงสัยดังกล่าวให้แก่ตลาดหลักทรัพย์และผู้ถือหุ้นทราบ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีข้อมูลที่ถูกต้องและทันเหตุการณ์ โดยบริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน และมีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
ทั้งนี้ ตามข้อมูลวันปิดสมุดทะเบียน วันที่ 28 มิ.ย. 2567 พบว่า
1) กลุ่มครอบครัววนาสินเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ THG โดยถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมรวม 21.51% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
2) กลุ่มครอบครัววนาสินถือหุ้น 40.80% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ RTD
3) กลุ่มครอบครัววนาสิน และ RTD ถือหุ้น 36.1% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด
4) Scientific Software Solutions เป็นบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศสิงคโปร์ รูปแบบเจ้าของกิจการคนเดียว โดยจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566
นายแพทย์บุญ วนาสิน (หมอบุญ) อดีตประธานกรรมการ และในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท THG เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า กรณีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจพบรายการอันควรสงสัย และแนวทางแก้ไข ของ 2 บริษัทในการกู้ยืมเงินภายใน สั่งสินค้าแต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริง และมียอดหนี้คงค้างอันควรสงสัยรวมทั้งสิ้น 105 ล้านบาท นั้น เป็นการตรวจสอบบัญชีโดยละเอียดของเครือ THG และได้แจ้งต่อ SET เป็นการปกติ สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานอย่างโปร่งใส่
โดยทั้งประเด็นการให้กู้ยืมเงินและประเด็นสั่งซื้อสินค้าไม่ได้รับมอบจริง ปัจจุบันดำเนินการแล้วและมีการฟ้องร้องกันมาเดือนกว่าแล้ว (กระบวนการทางกฎหมายมันช้า) ซึ่ง THG จะชนะคดี ทำให้มีตัวผู้รับผิดชอบหรือจ่ายเงินคืนเรียบร้อย โดยมองว่ามูลค่าแค่ 100 ล้านบาท ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าความเสียหายนี้จะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน อย่างไรก็ตามส่วนตัวมีอายุมากแล้ว ไม่ได้เข้าไปยุ่งอะไรมาก โดยได้มองดูทีมบริหารรุ่นใหม่อยู่ห่าง ๆ และได้มีการแนะนำทางออกให้ทีมผู้บริหารไปแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมบริหารจะตัดสินใจกัน
นอกจากนี้ การแจ้งต่อ SET ล่าสุด ถือเป็นเรื่องเชิงลบ เอาแต่กระทบราคาหุ้น และเป็นห่วงผู้ถือหุ้นทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ถือหุ้นที่รู้จักกับคุณหมอเอง จะเสียเปรียบเรื่องราคาหุ้นที่อาจลดลง จึงอยากให้ความเชื่อมั่นว่าเครือ THG ธุรกิจยังไปได้ดี และมีความแข็งแกร่ง แม้ปัจจุบันจะอยู่ในสถานะ “การลงทุนค่อนข้างมากทำให้มีกำไรน้อย” แต่เมื่อโครงการต่าง ๆ ที่ได้ขยายรองรับเทรนด์สุขภาพไปนั้น จะสร้างผลตอบแทนที่ดีกลับมาอย่างแน่นอน สรุปแล้วไม่มีเรื่องที่เป็นนัยยะ และหากมีอะไรเพิ่มเติม ทางทีมคณะผู้บริหารน่าจะแจ้งต่อ SET ตามลำดับขั้นเรื่อย ๆ