จำใจยอม! CPALL เตรียมลงดาบผู้บริหารสิ้นเดือนนี้ หวังกู้เครดิตคืนจากกองทุน
บอร์ดซีพีออลล์เตรียมประชุมธรรมาภิบาลภายในเดือนนี้ เผยผู้บริหารอาจลาออกรับผิดชอบกรณีอินไซเดอร์เทรดดิ้งหุ้น MAKRO
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ในเครือซีพีกรุ๊ป เตรียมจะจัดการประชุมขึ้นภายในเดือนนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการประชุมในวาระที่เกี่ยวข้องกับกรณีการอินไซเดอร์เทรดดิ้งหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ของผู้บริหารระดับสูงในบริษัท
โดย นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ดของซีพีออลล์ครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ซึ่งเป็นไปได้ว่าผู้บริหารอาจจะลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ซึ่งหากลาออกจริงก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ CPALL เพราะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความเป็นมืออาชีพ
ขณะเดียวกัน นายสมิทธ์ย้ำว่า การบริหารธุรกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนแค่คนเดียว ในองค์กรยังมีบุคคลที่มีความสามารถอีกมาก และหากมีการลาออกจริงก็ยังสามารถทำงานในฐานะที่ปรึกษาของบริษัทได้ อีกทั้งในอนาคต หากจะเลือกกลับเข้ามาใหม่ก็ทำได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามหากผลการประชุมคณะกรรมการ CPALL ยังไม่มีข้อสรุป หรือชี้แจงแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน สมาคมบลจ.ก็ต้องทำหน้าที่ต่อ คงไม่เพิกเฉยแน่นอน เพราะถือว่าได้แสดงเจตนาที่ชัดเจนในเรื่องธรรมาภิบาลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าประเด็นตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น รวมถึงความยากลำบากในการเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ของ CPALL ด้วย
ด้านนายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล เปิดเผยว่า หากผู้บริหาร CPALL ลาออกจะไม่ผลกระทบต่อการดำเนินงานของ CPALL แต่หากยังไม่มีข้อสรุปแนวทางการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบเชิงลบได้มากกว่า
สำหรับผู้บริหารของ CPALL ที่ถูกเปรียบเทียบปรับ จากการใช้ข้อมูลภายใน หรือ อินไซเดอร์เทรดดิ้ง เพื่อเข้าซื้อหุ้น บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์,นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล,นายพิทยา เจียรวิสัฐกุล และนายอธิก อัศวานันท์
อนึ่งมีการคาดการณ์ว่า เหตุผลของการเตรียมจัดการประชุมในครั้งนี้ อาจมาจากประเด็นความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเงินของบริษัทในเครือซีพี อันเนื่องมาจากความเชื่อมั่นต่อภาพลักษณ์ด้านธรรมาภิบาลของบริษัท และ แผนการลงทุนที่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล
โดยล่าสุด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE หนึ่งในบริษัทในเครือของซีพี ได้มีมติให้ทำการเพิ่มทุนราว 6 หมื่นลบ. หลังเป็นหนึ่งในผู้ชนะการประมูลใบอนุญาต 4G ทั้งในคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิรตส์ ซึ่งต่อจากนี้ไป หาก CPALL ไม่สามารถหาข้อสรุปในการดำเนินการกับผู้บริหารที่มีส่วนพัวพันได้ อาจส่งผลให้บริษัทไม่สามารถจำหน่ายหุ้นกู้ชุดใหม่ได้ตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ ประเด็นตรงนี้อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการดำเนินงานของบริษัท