THCOM บวก 3% โบรกแนะ “เก็งกำไร” เป้า 17 บาท จ่อปิดดีล “กสทช.” ผงาดคุมวงโคจรดาวเทียม
THCOM เตรียมปิดดีล “กสทช.” สัปดาห์หน้า รับใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียมตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก โบรกฯ มองดีลนี้ไทยคมไร้ต้นทุนค่าสัมปทาน กลายเป็นผู้ถือใบอนุญาตช่องวงโคจรทั้งหมดของไทย ครองมาร์เก็ตแชร์เบอร์หนึ่ง Q4 มีลุ้นงานใหม่ในอินเดีย-USO เติมอัพไซด์ ราคาเป้าหมาย 17 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (10 ต.ค.67) ราคาหุ้น บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ณ เวลา 11:40 น. อยู่ที่ระดับ 13.70 บาท บวก 0.40 บาท หรือ 3.01% สูงสุดที่ระดับ 13.90 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 13.30 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 246.92 ล้านบาท
นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า บริษัทลูกในเครือบริษัท ไทยคม (ถือหุ้น 100%) ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอใบอนุญาตการใช้วงโคจรดาวเทียมที่ตำแหน่ง 50.5, 51 และ 142 องศาตะวันออก ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นรายเดียวที่ยื่นในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นรอบที่ 3 แล้ว จากก่อนหน้านี้ที่เปิดประมูลมา 2 รอบ แต่ไม่มีผู้สนใจเข้ายื่นประมูลเลย
โดยล่าสุดกสทช.มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ เนื่องจากวงโคจรดาวเทียมที่ตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก กำลังจะหมดอายุภายในวันที่ 27 พ.ย.นี้แล้ว หากประเทศไทยไม่ส่งดาวเทียมขึ้นไปรักษาวงโคจรนี้ไว้ ก็จะเสียสิทธิ์ดังกล่าวให้แก่ประเทศอื่น
“กำหนดเส้นตายคือ 27 พ.ย.นี้ ตามที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กำหนด หากไม่มีผู้ใช้สิทธิภายในเวลาดังกล่าว ประเทศไทยก็จะเสียวงโคจรนี้ไป” นายปฐมภพ กล่าว
นายปฐมภพ กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากกับกสทช. คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นไทยคมจะนำดาวเทียมซึ่งเช่าจากประเทศอื่น ๆ ลากเข้าสู่วงโคจร 50.5 องศาตะวันออก เพื่อรักษาสิทธิ์ให้กับประเทศไทย ส่วนจะสร้างดาวเทียมดวงใหม่คงไม่ทัน เพราะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปี
ขณะที่ กสทช.กำลังพิจารณาข้อเสนอของไทยคมอยู่ แต่เรื่องนี้จะต้องเร็วที่สุด ส่วนวงโคจรดาวเทียมที่ตำแหน่ง 51 และ 142 องศาตะวันออก นั้นยังมีเวลาให้พิจารณาอยู่ ซึ่งบริษัทจะพิจารณาเงื่อนไขแยกเป็นแต่ละวงโคจร สัญญาสัมปทานแต่ละสัญญา 20 ปี
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในวงโคจรดาวเทียมที่ตำแหน่ง 50.5, 51 และ 142 องศาตะวันออก ไม่ได้สูงมาก ส่วนบริษัทจะนำไปทำธุรกิจด้านใดบ้าง อยู่ระหว่างกำลังพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและผู้ถือหุ้นของไทยคม
โดยปัจจุบันไทยคมเป็นเจ้าของใบอนุญาตดาวเทียม 78.5, 119.5 และ 120 องศาตะวันออก เป็นเวลา 20 ปี ซึ่งส่งผลให้อำนาจในตลาดธุรกิจดาวเทียมภายในประเทศเพิ่มขึ้น
ก่อนหน้านี้ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า หลังจากการยื่นข้อเสนอ กระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติและข้อเสนอจะเริ่มขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค. 2567 และจะมีการเจรจาต่อรองในวันที่ 11 ต.ค. 2567 ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกสทช. ในวันที่ 16 ต.ค. 2567 คาดว่าผลการพิจารณาจะสามารถประกาศได้ภายในวันที่ 17 ต.ค. 2567 ทั้งนี้หากการพิจารณาไม่แล้วเสร็จทันเวลา จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมกสทช.อีกครั้งในวันที่ 24 ต.ค. 2567 และอาจประกาศรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตในวันที่ 24 หรือ 25 ต.ค. 2567
สำหรับประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในตำแหน่ง 50.5, 51 และ 142 องศาตะวันออก เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมเสนอแผนงานเพื่อรับสิทธิ์สำคัญนี้ โดยไม่กำหนดราคาขั้นต่ำในการอนุญาต และไม่มีการจัดชุดของข่ายงานดาวเทียม
โดยการอนุญาตจะดำเนินการผ่านการพิจารณาเปรียบเทียบข้อเสนอของผู้สมัคร โดยต้องผ่านเกณฑ์การพิจารณาอย่างเข้มงวด ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญดังนี้ ความพร้อมในการรักษาสิทธิ์ใช้วงโคจรดาวเทียม (40%) ประสบการณ์ในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้อง (25%) ความสามารถด้านการเงินและข้อเสนอการวางหลักประกัน (20%) ข้อเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐ (15%)
ทั้งนี้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องเสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐไม่น้อยกว่า 0.25% พร้อมจัดให้มีดาวเทียมของตัวเองหรือมาตรการเพื่อรักษาสิทธิ์ตามระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต ขณะที่การพิจารณาแต่ละเกณฑ์จะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 50% ของแต่ละหัวข้อ เพื่อให้ผ่านการคัดเลือก ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม และเงื่อนไขการสมัครได้จากประกาศของกสทช.
คุมเบ็ดเสร็จวงโคจรดาวเทียม
บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด คงคำแนะนำ “ซื้อ” THCOM อิงราคาเหมาะสม 17 บาทต่อหุ้น สำหรับการประมูลวงโคจรรอบใหม่ของกสทช. ปรับสองเกณฑ์สำคัญเป็น Beauty Contest ไม่ต้องจ่ายค่าวงโคจรในการประมูล และไม่ต้องรักษาวงโคจรด้วยการยิงดาวเทียมของตัวเองภายใน 5 ปี ทำให้ THCOM ไม่มีต้นทุนการประมูลและมีทางเลือกในการรักษาวงโคจรเพิ่มขึ้น หาก THCOM เข้าประมูลจริง แต่ผลกระทบด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็จำกัดเช่นกัน สุทธิแล้วมองเป็นความพยายามที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐเพื่อโอกาสอื่น ๆ ในอนาคตมากกว่า
โดยช่วงที่เหลือปีนี้ THCOM มีลุ้น 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1)ลุ้นการได้รับอนุมัติจากหน่วยงานในประเทศอินเดีย เพื่ออนุญาตการใช้งานดาวเทียม THCOM8 ในตลาดอินเดีย หากสำเร็จจะทำให้ THCOM ขึ้นวงโคจรได้อย่างช้าในปี 68 2)ลุ้นการเปิดประมูลบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) รัฐบาลอินเดีย รอบใหม่ที่หากเกิดขึ้นตลาดจะกลับมาเก็งกำไรโอกาสปิด Presale ดาวเทียม THCOM 10 เพิ่มเติม 3)ลุ้นการประมูล USO ประเทศไทยเฟสใหม่ที่จะมีขนาดใหญ่กว่ารอบก่อน ในช่วงปลายปี 67 ถึงต้นปี 68
บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุ กสทช.เร่งจัดสรรสิทธิวงโคจรดาวเทียมด้วยกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลาย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังเร่งจัดสรรช่องวงโคจรดาวเทียมที่ 50.5 และ 142 องศาตะวันออก ภายในวันที่ 27 พ.ย. 67 เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยสูญเสียสิทธิ์
โดยเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 67 มีการจัดประชุมเพื่อรับสมัครการเข้าร่วมของภาคเอกชนกสทช. มีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่ามีการใช้วงโคจรและได้ผ่อนคลายข้อกำหนดบางประการ เช่น อนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถรับตำแหน่งดาวเทียมได้โดยไม่ต้องมีดาวเทียมในวงโคจรจริง โดยมุ่งเน้นการรักษาสิทธิ์ดาวเทียมของประเทศไทย เกณฑ์การประเมินหลัก ประกอบด้วย ความพร้อมในการรักษาสิทธิวงโคจร (40%), ประสบการณ์ทางธุรกิจ (25%), ความสามารถทางการเงิน (20%) และข้อเสนอผลตอบแทนการลงทุน (15%)
ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของ THCOM โดยเป็นผู้ร่วมประมูลเพียงรายเดียว หากได้รับใบอนุญาต ก็ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุน และ THCOM จะเป็นผู้ถือใบอนุญาตช่องวงโคจรทั้งหมดของประเทศไทย ส่งผลให้ตำแหน่งในตลาดมั่นคงขึ้น และเพิ่มอุปสรรคต่อผู้เข้ามาใหม่ ทั้งนี้กสทช.น่าจะประกาศผลการประมูลภายในวันที่ 17 ต.ค. โดยใบอนุญาตใหม่จะช่วยให้ THCOM สามารถสร้างหรือเช่าดาวเทียมใหม่ได้หากมีโอกาสในอนาคต ดังนั้นแนะนํา “ซื้อเก็งกำไร”