สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้

สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 1 ก.พ.59


– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 121.20 เยน/ดอลลาร์ ทรงตัวเท่าตอนเช้า

– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0858 ดอลลาร์/ยูโร จากตอนเช้าที่อยู่ที่ระดับ 1.0847 ดอลลาร์/ยูโร

– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,297.34 จุด ลดลง 3.64 จุด หรือ 0.28%

– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 857.85 ล้านบาท (SET+MAI)

 

– กระทรวงพาณิชย์ ระบุ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือน ม.ค.59 ยังคงติดลบต่อเนื่องโดยอยู่ที่ระดับ –0.53% YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า) จากราคาพลังงานที่ยังคงลดลงต่อในเดือน ม.ค. ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.59% YOY จาก 0.68% YOY ในเดือน ธ.ค.58

– ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 59 จะขยายตัวที่ระดับ 0.8% YOY เนื่องจากราคาน้ำมันระดับต่ำมีผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบ แต่ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมกำลังซื้อในประเทศให้ฟื้นตัวได้ อีกทั้งอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากแรงผลักดันของมาตรการภาครัฐเป็นหลัก

– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 12 ปี ส่งผลให้มองค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 59 มีโอกาสชะลอตัวต่ำลงหลุดกรอบล่างของตัวเลขคาดการณ์ที่ 0.8-1.8% ซึ่งต้องติดตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลก และท่าทีของการเจรจาระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและกลุ่มโอเปกในเดือน ก.พ.นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อทบทวนกรอบประมาณการเงินเฟ้อ และสมมติฐานราคาน้ำมันอีกครั้ง และเป็นไปได้ว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยจะมีค่าเฉลี่ยรายปีที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 59 ของ ธปท.ซึ่งอยู่ที่ 2.5% บวก ลบ 1.5 (หรือในช่วง 1.0%-4.0%) ติดต่อกันเป็นปีที่สอง

– นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนเองได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการค้าภายในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับความเห็นชอบในหลักการจากนายกรัฐมนตรีอนุมัติงบกลางปีให้แก่กระทรวงพาณิชย์วงเงิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพัน 3 ปี แบ่งเป็น งบขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ 620 ล้านบาท และงบการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 880 ล้านบาท โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 9 ก.พ.นี้

– ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติ ‘คง’ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมรอบแรกของปี 2559 ในวันที่ 3 ก.พ.59 เพื่อรอติดตามสถานการณ์แวดล้อมที่สร้างความท้าทายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น โดยเฉพาะจากประเด็นเศรษฐกิจจีน และทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

– ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics คาดว่าการประกาศอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่นจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย และคาดว่าจะมีเงินลงทุนต่างชาติจะเริ่มไหลกลับเข้าตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทยอีกครั้ง

– ไชน่า อินเตอร์เนชันแนล แคปิตอล คอร์ป (CICC) เปิดเผยในบทวิเคราะห์ว่า จีนจะเดินหน้านโยบายการคลังเชิงรุกในปี 2559 และยอดขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงดังกล่าว

นักวิเคราะห์ของ CICC คาดการณ์ว่า ยอดขาดดุลงบประมาณในปีนี้จะแตะระดับ 2.2 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 3.36 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือ 3% ของดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

 

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์

Back to top button