รู้ยัง! WHO ประกาศ “ไวรัสซิกา” เป็นภัยฉุกเฉินระดับโลก

รู้ยัง! WHO ประกาศ "ไวรัสซิกา" เป็นภัยฉุกเฉินระดับโลก


องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ ไวรัสซิกา ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างหนักในบราซิลและประเทศอื่นๆในภูมิภาค เป็น “ภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก” โดยนับเป็นการประกาศเตือนภัยครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤติอีโบลาที่แพร่ระบาดในแอฟริกาตะวันตกเมื่อปี 2557

การประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ WHO ได้เปิดการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหารือในเรื่องของไวรัสซิกา และความเกี่ยวข้องกับการที่ทารกในบราซิลเกิดมามีศีรษะเล็กผิดปกติ หรือภาวะศีรษะเล็กเกินไป เช่นเดียวกับโรคอื่นๆทางระบบประสาท

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีรักษาโรคไข้ซิกาโดยเฉพาะ ไวรัสดังกล่าวมียุงเป็นพาหะ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดหัว มีไข้เล็กน้อย และรู้สึกปวดข้อ หลังเชื้อไวรัสฟักตัวเป็นเวลา 3-12 วัน

WHO เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่พบผู้ป่วยโรคไข้ซิการายแรกในบราซิลเมื่อเดือนพ.ค. 2558 ก็ได้พบการแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคอเมริกา นอกจากนี้ยังพบการแพร่ระบาดที่ประเทศเฟรนช์โปลินีเซียเมื่อปี 2556 ด้วยเช่นกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างโรคไข้ซิกากับภาวะศีรษะเล็กเกินยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตในวงกว้าง

ทั้งนี้ WHO ได้ประกาศภัยฉุกเฉินเมื่อปี 2557 ต่อการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก เช่นเดียวกับวิกฤติไข้หวัดหมูเมื่อปี 2552 และโรคโปลิโอที่กลับมาอีกครั้งเมื่อปี 2557

Back to top button