อันตราย! พบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาในไทยแล้ว
รพ.พบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาในไทย 1 ราย แต่ สธ.เผยไม่รุนแรง-ยังไม่แพร่ระบาด
พล.อ.ต.สันติ ศรีเสริมโภค ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เปิดเผยว่า โรงพยาบาลได้พบผู้ป่วยชายมีอาการไข้ออกผื่นได้เจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบเป็นโรคซิกา ซึ่งทางโรงพยาบาลไม่ได้ปิดบังการพบผู้ป่วยในครั้งนี้ โดยได้ดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งการทำลายยุงที่เป็นพาหะนำโรค ให้ความรู้ประชาชน โดยมีการประสานงานกันใกล้ชิดกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวมาตรการควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาของประเทศไทยว่า ภายหลังองค์การอนามัยโลก ประกาศเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ได้กำชับให้ทุกภาคส่วน เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมมาตรการป้องกัน ควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้เน้นเฝ้าระวัง 4 เรื่อง คือ 1.เฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 2.เฝ้าระวังทางกีฏวิทยา 3.เฝ้าระวังในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ออกผื่น ทารกที่มีความผิดปกติศีรษะเล็ก โดยได้ประสานกับสมาคมสูตินรีแพทย์แห่งประเทศในการเฝ้าระวังอีกด้วย และ 4.เฝ้าระวังในผู้ที่มีอาการปลายประสาทอักเสบ ซึ่งขณะนี้ห้องปฎิบัติการ (Lab) ของประเทศไทยสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสซิกาได้หลายแห่ง และในวันนี้จะได้ลงนามในประกาศ 2 ฉบับตามที่กรมควบคุมโรคเสนอ
โดยศูนย์ปฎิบัติการภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญออกประกาศ 2 ฉบับ ได้แก่ ชื่อและอาการสำคัญผู้ป่วย และประกาศให้โรคซิกาเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2523 หากพบผู้ป่วยต้องแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทันที
อย่างไรก็ตาม ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ประเทศไทยไม่ใช่พื้นที่ระบาดของโรค แต่ละปีมีผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 5 คน โรคนี้ส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการโรคไม่รุนแรง ไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต มีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาการเหล่านี้ทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน ได้เอง
ทั้งนี้กรมฯ ขอความร่วมมือประชาชน ร่วมมือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งในบ้าน รอบๆ บ้านและในชุมชน ทั้งคนในครอบครัวและคนในชุมชนเอง ต้องช่วยกันค้นหาและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องรอเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการให้ ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันในเรื่องนี้ ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดในแถบประเทศลาตินอเมริกา และแคริเบียน หากมีอาการข้างต้นสามารถเข้ารับการตรวจรักษาได้ที่สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ขอให้เชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย และโปรดติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข
อนึ่งก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ ไวรัสซิกา ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างหนักในบราซิลและประเทศอื่นๆในภูมิภาค เป็น “ภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก” โดยนับเป็นการประกาศเตือนภัยครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤติอีโบลาที่แพร่ระบาดในแอฟริกาตะวันตกเมื่อปี 2557
การประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ WHO ได้เปิดการประชุมผู้เชี่ยวชาญเพื่อหารือในเรื่องของไวรัสซิกา และความเกี่ยวข้องกับการที่ทารกในบราซิลเกิดมามีศีรษะเล็กผิดปกติ หรือภาวะศีรษะเล็กเกินไป เช่นเดียวกับโรคอื่นๆทางระบบประสาท
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีรักษาโรคไข้ซิกาโดยเฉพาะ ไวรัสดังกล่าวมียุงเป็นพาหะ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดหัว มีไข้เล็กน้อย และรู้สึกปวดข้อ หลังเชื้อไวรัสฟักตัวเป็นเวลา 3-12 วัน
WHO เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่พบผู้ป่วยโรคไข้ซิการายแรกในบราซิลเมื่อเดือนพ.ค. 2558 ก็ได้พบการแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคอเมริกา นอกจากนี้ยังพบการแพร่ระบาดที่ประเทศเฟรนช์โปลินีเซียเมื่อปี 2556 ด้วยเช่นกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างโรคไข้ซิกากับภาวะศีรษะเล็กเกินยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตในวงกว้าง
ทั้งนี้ WHO ได้ประกาศภัยฉุกเฉินเมื่อปี 2557 ต่อการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก เช่นเดียวกับวิกฤติไข้หวัดหมูเมื่อปี 2552 และโรคโปลิโอที่กลับมาอีกครั้งเมื่อปี 2557