ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม PREB ที่ “BBB-/Stable”

ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม PREB ที่ "BBB-/Stable"


ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ PREB ที่ระดับ “BBB-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานในการก่อสร้างโครงการอาคารสูงของบริษัทที่น่าพอใจ รวมถึงการคงความสามารถในการทำกำไร และสถานะทางการเงินที่ยอมรับได้ ทว่าจุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในระดับสูงจากการมีลูกค้าน้อยราย ตลอดจนธรรมชาติที่ผันผวนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง การแข่งขันที่รุนแรง และภาระหนี้ที่มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจหลักได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมีภาระหนี้สูงขึ้น แต่ก็น่าจะสามารถบริหารจัดการได้แม้ว่าบริษัทจะมีแผนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นในระยะ 3 ปีข้างหน้าก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าอยู่ที่ระดับ 8% และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 55% หรืออัตราส่วนเงินกู้ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.2 เท่าในช่วงปี 2558-2561

อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทประสบความสำเร็จในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีฐานรายได้สูงขึ้นและความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน อันดับเครดิต/และหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากบริษัทสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หรือในกรณีที่รายได้และความสามารถในการทำกำไรลดลงหรือการล้มเหลวในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นเหตุให้ระดับภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นและโครงสร้างทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลง

บริษัทพรีบิลท์ก่อตั้งในปี 2538 เพื่อดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทั่วไปโดยเน้นงานก่อสร้างอาคารสูงสำหรับกลุ่มลูกค้าภาคเอกชน บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2548 โดยมีกลุ่มตระกูลเจริญตาซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 26% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ณ เดือนพฤษภาคม 2558 บริษัทขยายธุรกิจไปสู่การผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในปี 2547 โดยลงทุนผ่าน บริษัท พีซีเอ็มคอนสตรัคชั่น แมททีเรียล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท บริษัทพีซีเอ็มคอนสตรัคชั่น แมททีเรียล เป็นผู้ผลิตแผ่นพื้นคอนกรีตอัดแรงสำเร็จรูป ในปี 2552 บริษัทขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยจัดตั้ง บริษัท บิลท์ แลนด์ จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเน้นพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์ ตั้งแต่ปี 2553 บริษัทรับรู้รายได้จากทาวน์เฮ้าส์ 1 โครงการและจากคอนโดมิเนียม 4 โครงการ

อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่น่าพอใจของบริษัทในการก่อสร้างอาคารสูงสำหรับพักอาศัยและการพาณิชย์ โดยบริษัทเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อเสียงซึ่งส่วนใหญ่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯ และในต่างจังหวัดที่มีทำเลที่ตั้งดี นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถก่อสร้างโรงงานและงานสาธารณูปโภคอื่น ๆ รวมทั้งงานวางระบบและออกแบบด้วย บริษัทขยายไปสู่ธุรกิจวัสดุก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์เพื่อเพิ่มรายได้และกำไร อย่างไรก็ดี รายได้จากธุรกิจทั้ง 2 ประเภทยังคงมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ แต่ก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลัก โดยคิดเป็นสัดส่วน 80%-90% ของรายได้รวมของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการคงความสามารถในการทำกำไรแม้ว่าบริษัทจะเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้ บริษัทก่อสร้างโดยใช้ระบบแบบหล่อคอนกรีตสำเร็จ (Pre-cast Concrete System) ซึ่งทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนและระยะเวลาก่อสร้างได้ โดยทั้ง 2 ประการดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จ บริษัทคงอัตรากำไรขั้นต้นได้ที่ประมาณ 10%-20% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มเป็น 13.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 แม้ว่าจะมีรายได้ลดลงก็ตาม ทั้งนี้ อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 12.2% ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่สูงกว่าก็ช่วยหนุนให้อัตรากำไรขั้นต้นโดยรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการพึ่งพารายได้ที่สำคัญจากลูกค้ารายใหญ่จำนวนน้อยราย โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากลูกค้า 3 ราย คือ มูลนิธิวัดธรรมกาย กลุ่มบริษัท ควอลิตี้เฮ้า จำกัด (มหาชน) และ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งแต่ละรายสร้างรายได้ให้แก่บริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20%-30% ของรายได้รวมต่อปี ทั้งนี้ ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวจากการมีลูกค้าน้อยรายส่งผลลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวถูกลดทอนลงเนื่องจากความเสี่ยงของการไม่ได้รับชำระเงินจากลูกค้าหลักอยู่ในระดับที่ยอมรับได้

นอกจากนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่ยอมรับได้ด้วย โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ประมาณ 9% ระหว่างปี 2555-2556 โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 28% ณ สิ้นปี 2557 และเพิ่มขึ้นเป็น 31% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 จากการที่บริษัทลงทุนในโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งได้แก่โครงการ TEMPO Grand Sathorn-Wuttakard อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ดังกล่าวอยู่ในระดับที่ยอมรับได้เมื่อพิจารณาถึงสภาพคล่องของบริษัทที่เพียงพอและนโยบายการเงินที่ระมัดระวัง

ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากธรรมชาติที่ผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อระดับรายได้และความสามารถในการทำกำไรของบริษัท โดยรายได้ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ลดลงถึง 36.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน และต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ โดยบริษัทมีรายได้ 3,050 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 บริษัทมีมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบจำนวน 7,800 ล้านบาท โดยมูลค่างานดังกล่าวจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ที่ระดับ 25% ของรายได้ของบริษัทในปี 2558 ที่ระดับ 85% ในปี 2559 ที่ระดับ 50% ในปี 2560 และที่ระดับ 20% ในปี 2561 ตามสมมติฐานของทริสเรทติ้ง

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 4,000-4,500 ล้านบาทในปี 2558 และในระหว่างปี 2559-2561 คาดว่ารายได้รวมจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมาจากการโอนคอนโดมิเนียมในโครงการ TEMPO Grand Sathorn-Wuttakard อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 5%-6% เป็น 8% ในช่วงปี 2559-2561 เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกันจากระดับ 200-300 ล้านบาทต่อปีในปี 2557-2558 เป็น 450 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2561 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการขยายโครงการอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ดังกล่าวน่าจะอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ต่ำกว่า 55% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า สภาพคล่องซึ่งสะท้อนได้จากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมและอัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะอ่อนตัวลง ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2558-2561 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 25% ในขณะที่อัตราส่วนกำไร (ก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) ต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 7 เท่า

Back to top button