BCP คงเป้า EBITDA ปี 63 แตะ 2.5 หมื่นลบ. พร้อมดัน “บีซีพีจี” เข้าตลาดหุ้น

BCP คงเป้า EBITDA ปี 63 แตะ 2.5 หมื่นลบ. แม้มองราคาน้ำมันต่ำ คาดโซลาร์ฟาร์ม “SunEdison” ผลิตไฟฟ้าได้ปีนี้ 40MW ก่อนครบ 198MW ในปี 61 พร้อมดัน “บีซีพีจี” ผู้ดำเนินกิจการไฟฟ้าเข้าตลาดหุ้นครึ่งหลังปีนี้ หวังระดมทุนราว 8 พันลบ. ใช้ซื้อกิจการไฟฟ้า


นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าหมายกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานแตะระดับ 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 63 จากปีนี้ที่คาดไว้ที่ระดับ 1.26 หมื่นล้านบาท แม้ประเมินราคาน้ำมันจะยังอยู่ในระดับต่ำไม่เกินระดับ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลช่วง 5 ปีจากนี้

พร้อมยืนยันลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ต่อไป แม้ไตรมาส 4/58 จะตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ปิโตรเลียมต่อเนื่องเป็นปีที่สองก็ตาม แต่อยู่ในระดับที่ไม่มากหรือไม่ถึง 300 ล้านบาท พร้อมดันกิจการไฟฟ้า บริษัท บีซีพีจี จำกัด (BCPG) เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นช่วงครี่งหลังปีนี้ หวังระดมทุนราว 8 พันล้านบาท ถึง 1 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ซื้อกิจการไฟฟ้าในอนาคต

ส่วนการลงทุนก็ยังเป็นไปตามแผนที่จะลงทุนทั้งธุรกิจสีเขียว debottleneck non-oil ส่วน E&P ยังเป็น question mark อยู่ เป้ารวมไม่เปลี่ยน แต่สัดส่วนงานอาจจะเปลี่ยน สัดส่วน E&P อาจจะเปลี่ยน แต่เราไม่ได้คิดที่จะถอนการลงทุน”นายชัยวัฒน์ ให้สัมภาษณ์”อินโฟเควสท์”

ทั้งนี้มองว่า ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ที่บริษัทเข้าลงทุนใน Nido Petroleum Limited (Nido) ตั้งแต่ปี 57 จะยังคงสามารถสร้างกำไรได้ดีในอนาคตเพราะราคาน้ำมันดิบที่ระดับกว่า 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในเดือนม.ค.ที่ผ่านมาน่าจะเป็นระดับต่ำสุดแล้ว ซึ่งเป็นผลจากภาวะอุปทานที่ล้นตลาด แต่เชื่อว่าความต้องการใช้น้ำมันที่มีอยู่ก็จะผลักดันให้อุปสงค์และอุปทานปรับเข้าสู่สมดุล โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบปีนี้อยู่ที่ราว 35-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และไม่น่าเกิน 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ขณะที่ Nido ซึ่งมีแหล่งผลิตน้ำมันดิบในแหล่ง Galoc ที่ฟิลิปปินส์ ยังคงทำการผลิตได้ในระดับราคาน้ำมันดิบที่ปัจจุบัน เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ราว 31-32 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่หากราคาน้ำมันดิบปรับลงต่ำกว่า 31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเป็นเวลา 2-3 เดือนก็อาจจะทำให้ไม่สามารถผลิตได้ แต่การที่ราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ ก็อาจทำให้ต้องพิจารณามากขึ้นในการเข้าลงทุนใหม่ โดยต้องพิจารณาถึงต้นทุนการผลิตที่ต่ำมากๆ และได้ราคาเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4/58 ที่ผ่านมาบริษัทต้องตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ปิโตรเลียมอีกเล็กน้อยไม่เกินระดับ 300 ล้านบาท จากที่ในปี 57 ได้ตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ดังกล่าวมาแล้วเกือบ 900 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากระดับราคาน้ำมันที่ต่ำลง

สำหรับเป้าหมาย EBITDA จากการดำเนินงานในปี 63 ยังเป็นไปในระดับเดิม โดยจะมาจากธุรกิจโรงกลั่นราว 8 พันล้านบาท, ธุรกิจ E&P ราว 5 พันล้านบาท, ธุรกิจกรีน พาวเวอร์ ราว 5 พันล้านบาท, ธุรกิจไบโอดีเซลและเอทานอล ราว 1 พันล้านบาท, ธุรกิจค้าปลีกราว 3.2 พันล้านบาท เป็นต้น 

ด้านการดำเนินธุรกิจในระยะต่อไปจะเน้นแนวทาง 3S ทั้ง Security การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยการลงทุนธุรกิจต้นน้ำ, Stability เสริมสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานและการเงิน ด้วยการลงทุนด้านพลังงานทดแทน และ Sustainability สร้างความยั่งยืนให้องค์กร โดยเพิ่มรายได้จากธุรกิจ non-oil เพื่อพัฒนาให้เป็นรูปแบบเฉพาะในลักษณะ Bangchak Model แต่ในระยะสั้นหากธุรกิจใดยังไม่ดีก็จะเน้นไปยังธุรกิจที่มีอนาคตอยู่ได้ โดยในกรณีนี้ก็จะเน้นในเรื่องของพลังงานทดแทน ซึ่งมีมาร์จิ้น 10-12% และการขยายสถานีบริการ รวมถึง non-oil ซึ่งมีมาร์จิ้นราว 15%

อนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้บริษัทประกาศเข้าซื้อธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดของกลุ่ม SunEdison วงเงินไม่เกิน 2,915 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 198 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จและรับรู้รายได้บางส่วนได้ทันทีในปีนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 13 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 27 เมกะวัตต์ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ทำให้ทั้งปีนี้จะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้ากลุ่ม SunEdison รวม 40 เมกะวัตต์ ส่วนกำลังการผลิตที่เหลืออีก 158 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตได้ทั้งหมดในปี 2561

สำหรับการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งหมดดำเนินการโดย BCPG ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ที่อยู่ระหว่างการนำหุ้น BCPG เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยการเข้าซื้อโรงไฟฟ้ากลุ่ม SunEdison ครั้งนี้ จะทำให้ BCPG มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตแล้วราว 150-160 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีแผนจะเตรียมกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตแล้วสำหรับ BCPG ให้ครบ 200 เมกะวัตต์ ก่อนที่จะนำหุ้นเข้า SET ในราวไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 ปีนี้ แต่ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับสภาวะของตลาดในขณะนั้นด้วย 

ทั้งนี้ BCPG จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ราวเดือน มี.ค.59 โดยมี บล.กสิกรไทย, บล.ทิสโก้ และ บล.ฟินันเซีย ไซรัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ขณะที่ BCP จะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน BCPG เหลือราว 70%

โดยบริษัทคาดว่าจะได้เม็ดเงินจากระดมทุนครั้งนี้ราว 8 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ซื้อโรงไฟฟ้าและพัฒนาโรงไฟฟ้าตามแผน โดยมีเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตแล้วครบ 500 เมกะกวัตต์ภายในปี 63 จากปัจจุบันที่เมื่อซื้อโรงไฟฟ้าของ SunEdison แล้วจะทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในไทยและญี่ปุ่นรวม 410 เมกะวัตต์ เป็นกำลังการผลิตที่เดินเครื่องแล้วราว 131 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าในไทย 118 เมกะวัตต์ และ SunEdison อีก 13 เมกะวัตต์

ทั้งนี้บริษัทยังไม่มีแผนจะซื้อหุ้น BCP คืนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้ว่าราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงมากตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาจากความกังวลการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ฯ แม้บริษัทจะมีกระแสเงินสดอยู่ราว 1 หมื่นล้านบาทก็ตาม เนื่องจากบริษัทยังมีแผนลงทุนในโครงการต่างๆ อีกมากเพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคตของทั้งในส่วนธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ,สถานีบริการน้ำมัน และ non-oil, ไบโอดีเซลและเอทานอล รวมถึงธุรกิจไฟฟ้า

สำหรับแผนลงทุนในช่วงปี 58-63 จะใช้เงินลงทุนรวม 9 หมื่นล้านบาท ซื่งในจำนวนนี้จะเป็นการลงทุนในธุรกิจใหม่มากถึง 5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ ธุรกิจ E&P,โรงไฟฟ้าสีเขียว และ Biofuel ทั้งไบโอดีเซลและเอทานอล ขณะที่ใช้งบราว 2 หมื่นล้านบาท สำหรับซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน ขณะที่อีก 2 หมื่นล้านบาทจะใช้ลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพโรงกลั่น โรงไฟฟ้า งานบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การบริการ สถานีบริการ และอื่นๆ

โดยโรงกลั่นน้ำมันที่มีแผนจะเพิ่มประสิทธิภาพและขยายกำลังการกลั่นเพิ่มเป็น 1.4 แสนบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันที่มีกำลังการกลั่น 1.2 แสนบาร์เรล/วันนั้น คาดว่าจะดำเนินการได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่การหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นระหว่างวันที่ 8 ก.พ.-24 มี.ค.นี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการไตรมาส 1/59 ให้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนบ้าง เนื่องจาก EBITDA ของธุรกิจกลั่นจะลดลงไปราวครึ่งหนึ่งจากปกติ 1,500 ล้านบาท/ไตรมาส

อย่างไรก็ตามภาพรวมยังมองว่าผลการดำเนินงานก็น่าจะยังอยู่ระดับที่ดี เนื่องจากบริษัทยังมีธุรกิจการตลาดที่มีมารฺ์จิ้นดีอยู่ด้วย เมื่อเทียบกับโรงกลั่นอื่นที่ส่วนใหญ่จะมีเพียงธุรกิจการกลั่นอย่างเดียว รวมถึงยังมี EBITDA จากธุรกิจอื่นๆเข้ามา เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า สร้าง EBITDA ราว 800-900 ล้านบาท/ไตรมาส และธุรกิจการตลาด สร้าง EBITDA ราว 600-700 ล้านบาท/ไตรมาส

ด้านการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นครั้งนี้จะทำให้กำลังการกลั่นน้ำมันรวมในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ราว 9.7 หมื่นบาร์เรล/วัน จากเฉลี่ย 1.13 แสนบาร์เรล/วันในปีที่แล้ว ขณะที่คาดว่าค่าการกลั่น (GRM) ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน จะทำได้ราว 6-7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากราว 8-9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่แล้ว จากปริมาณน้ำมันดีเซลที่ทั่วโลกยังมีอยู่มาก ขณะที่โรงกลั่นของบริษัท สามารถกลั่นดีเซลได้ในปริมาณสูงราว 50% และกลั่นน้ำมันเบนซินได้ราว 18% ส่วนในปีนี้จะมีผลกระทบจากสต็อกน้ำมันหรือไม่นั้น ยังต้องรอดูราคาน้ำมันในช่วงสิ้นปีนี้อีกครั้ง ขณะที่ปีที่ผ่านมามีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันกว่า 4 พันล้านบาท

Back to top button