แรงซื้อหุ้นอุตสาหกรรมหนุนดาวโจนส์ปิดบวก 79.92 จุด
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบและกลุ่มอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกจากมุมมองที่ว่า การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์จะช่วยกระตุ้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์และช่วยหนุนผลกำไรของบริษัทข้ามชาติให้ฟื้นตัวขึ้นด้วย
สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิด (4 ก.พ.) ที่ 16,416.58 จุด เพิ่มขึ้น 79.92 จุด หรือ +0.49%, ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 4,509.56 จุด เพิ่มขึ้น 5.32 จุด หรือ +0.12% และดัชนี S&P500 ปิดที่ 1,915.45 จุด เพิ่มขึ้น 2.92 จุด หรือ +0.15%
ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบและกลุ่มอุตสาหกรรม โดยหุ้นอัลโค อิงค์ หุ้นฟรีพอร์ท-แมคมอแรน ต่างก็พุ่งขึ้นอย่างน้อย 10% ขณะที่หุ้นแคทเทอร์พิลลาร์ ปรับขึ้น 4.3% หุ้นเจนเนอรัล อิเล็กทริก ปรับตัวขึ้น 1.8% ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้ผลิตวัตถุดิบได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนมีมุมมองที่เป็นบวกว่า การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์จะช่วยกระตุ้นราคาสินค้าโภคภัณฑ์และช่วยหนุนผลกำไรของบริษัทข้ามชาติให้ฟื้นตัวขึ้นด้วย
ส่วนหุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยหุ้นเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และหุ้นยูเอส บังคอร์ป ต่างก็ปรับตัวขึ้นกว่า 1.7%, หุ้นกลุ่มขนส่งดีดตัวขึ้น โดยหุ้นไรเดอร์ ซิสเต็มส์ พุ่งขึ้น 9.2% ส่วนหุ้นเรลโรดส์ ยูเนียน แปซิฟิก และหุ้นแคนซัส ซิตี้ เซาท์เทิร์น ปรับตัวขึ้นกว่า 4.5%
นอกจากนี้ ตลาดยังคงขานรับการส่งสัญญาณที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ส่งสัญญาณว่า เฟดยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า เมื่อพิจารณาจากสภาวะการเงินที่ยังคงตึงตัว ด้านนายโรเบิร์ต แคปแลน ประธานเฟดสาขาดัลลัส กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องใช้ความอดทนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัว และภาวะตึงตัวมากขึ้นในตลาดการเงินโลก
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงกดดันในระหว่างวัน และส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นในกรอบที่จำกัด หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้วพุ่งขึ้น 8,000 ราย สู่ระดับ 285,000 ราย สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 280,000 ราย ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐร่วงลงหนักที่สุดในรอบ 1 ปีในเดือนธ.ค. โดยยอดสั่งซื้อร่วงลง 2.9% เนื่องจากผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และอุปสงค์ที่อ่อนแอในต่างประเทศ
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้ เพื่อบ่งชี้ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ขณะที่ผลการสำรวจนักวิเคราะห์ระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนม.ค.จะเพิ่มขึ้นเพียง 200,000 ตำแหน่ง โดยลดลงจากระดับ 292,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. และคาดว่าอัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 5.0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี