หุ้น “แบงก์-เช่าซื้อ” พุ่งแรง! รับข่าวดี “แพ็กเกจใหญ่” แก้หนี้ภาครัฐ

หุ้นแบงก์-เช่าซื้อวิ่งคึก! นำโดย TTB-KTC-AEONTS-MTC รับข่าวรัฐเตรียมคลอดมาตการแก้หนี้ครัวเรือน “แพ็กเกจใหญ่” ฟาก “คลัง-ธปท.” นัดชี้แจงรายละเอียดแก้หนี้ฯ 11 ธ.ค.นี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์-เช่าซื้อ บวกคึกนำโดย ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ณ เวลา 14:18 น. อยู่ที่ระดับ 1.79 บาท บวก 0.02 บาท หรือ 1.13% ราคาสูงสุด 1.79 บาท ราคาต่ำสุด 1.77 ด้วยมูลค่าซื้อขาย 50.40ล้านบาท

ส่วนบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ณ เวลา 14:22 น. อยู่ที่ระดับ 47.75 บาท บวก 1.00 บาท หรือ 2.14% ราคาสูงสุด 48.00 บาท ราคาต่ำสุด 46.50 ด้วยมูลค่าซื้อขาย 169.97 ล้านบาท

บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ณ เวลา 14:24 น. อยู่ที่ระดับ 125.50 บาท บวก 7.00 บาท หรือ 5.91% ราคาสูงสุด 126.00 บาท ราคาต่ำสุด 119.00 ด้วยมูลค่าซื้อขาย 3.02 ล้านบาท

บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ณ เวลา 14:23 น. อยู่ที่ระดับ 50.75 บาท บวก 1.00 บาท หรือ 2.01% ราคาสูงสุด 51.00 บาท ราคาต่ำสุด 51.00 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 131.69 ล้านบาท

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันที่ 11 ธ.ค. 2567 กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงินเฉพาะกิจรัฐ และสมาคมธนาคารไทย จะร่วมกันแถลงข่าวมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนที่ธปท. หลังจากได้ร่วมหารือจนจบ และได้รายละเอียดครบถ้วนแล้ว โดยการลดเงินนำส่งเข้ากองทุน และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 0.23% ถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกออกแบบมาดี ขณะเดียวกันต้องเปิดทางให้มีการแข่งขันระหว่างธนาคารด้วยกัน โดยการแก้หนี้ต้องให้เวลาในภาพรวม 3 ปี

“เงินที่ถูกลดนำส่ง FIDF ดังกล่าวจะถูกเก็บมาเป็นกองกลาง แบงก์ไหนทำได้เยอะได้ดี ไปแก้หนี้ลูกหนี้ของตนเองได้เยอะ ก็จะกินเงินกองกลางได้เยอะเช่นกัน หรืออาจจะกินข้ามส่วนของแบงก์คนอื่นก็ได้กรณีทำได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นทุกแบงก์ต้องแข่งกันแก้หนี้ ไม่เช่นนั้นเงินที่ลงมาจะฟรี” ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ

ก่อนหน้านี้ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทางคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มีมาตรการแก้หนี้ภาคครัวเรือนในกลุ่มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของประชาชนที่สามารถฟื้นกลับมาเป็นหนี้ดีได้ (NPL) เฉพาะหนี้ที่เกิดก่อนวันที่ 31 ต.ค. 2567 รวม 2.3 ล้านบัญชี รวม 1.31 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลเข้าไปดูแลโดยใช้แนวทางให้ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 0.23% เป็นระยะเวลา 3 ปี ประกอบกับมีเงินสมทบจากธนาคารและสถาบันการเงินใส่เข้าไปอีกส่วนหนึ่ง เมื่อรวมกันก็จะมีเงินจำนวนหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้

สำหรับเรื่องหนี้ที่อยู่อาศัย จะเข้าไปช่วยในมูลหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย เป็นหนี้ NPL ไม่เกิน 1 ปี และแขวนดอกเบี้ย จะเข้าไปช่วยเหลือจำนวน 4.6 แสนบัญชี มูลหนี้ 4.8 แสนล้านบาท ส่วนหนี้รถยนต์ มูลหนี้ไม่เกิน 8 แสนบาท เป็นหนี้ NPL ไม่เกิน 1 ปี และแขวนดอกเบี้ยจำนวน 1.4 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.7 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอี (SME) ที่ขอสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ ยอดสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท และแขวนดอกเบี้ยจำนวน 4.3 แสนบัญชี มูลหนี้ 4.54 แสนล้านบาท จะต้องเปิดให้มีการลงทะเบียนผ่านธนาคารที่ลูกหนี้เป็นหนี้อยู่ในปัจจุบัน หากไม่ลงทะเบียนจะไม่ได้รับสิทธิ์ ส่วนจะมีการแฮร์คัตหนี้หรือไม่นั้น อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม

“รัฐบาลยอมเฉือนเนื้อตนเองในเรื่อง FIDF รัฐยอมตัดเงินส่วนหนึ่งและธนาคารใส่เงินมาเพิ่มส่วนหนึ่ง ทำให้ในช่วงมาตรการ 3 ปี สามารถตัดเงินต้นได้เร็วขึ้น เพราะดอกเบี้ยจะถูกแขวนไว้ ซึ่งจะช่วยเฉพาะประชาชนที่เดือดร้อนกับการประกอบอาชีพ ซึ่งลูกหนี้ดังกล่าวมีอยู่ทั้งแบงก์รัฐและแบงก์เอกชน หากตลอด 3 ปี ผ่อนต้นได้ดี ก็จะได้รับการดูแลเรื่องดอกเบี้ยด้วยขึ้นอยู่กับแนวทางของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) หากเป็นหนี้จากการอุปโภคบริโภคจะไม่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือ เช่น หนี้บัตรเครดิต และยังมีส่วนของรายละเอียดเพิ่มเติมที่ธปท.หารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยหลังการประชุมกนส.เพื่อรับข้อเสนอเพิ่มเติมของธนาคารพาณิชย์” นายเผ่าภูมิ รมช.คลัง กล่าว

ทั้งนี้ นายลวรณ กล่าวถึงการสรรหาประธานบอร์ด ธปท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ส่งเรื่องไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งทางสำนักเลขาฯ กำลังตรวจคุณสมบัติอยู่ ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) หรือ KSS เผยว่า ประเด็นที่รัฐบาลแก้หนี้แพ็กเกจใหญ่ครอบคลุมกว่า 3 ล้านราย พร้อมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 11 ธ.ค. 2567 โดยเผยมาตรการเพิ่มเติมล่าสุด “แฮร์คัต” เงินกู้ส่วนบุคคล-บัตรเครดิตที่เป็นหนี้ไม่เกิน 5,000-10,000 บาท หนี้เสียค้างเกิน 1 ปี ทิ้งผ่อนนาน-ไม่มีแรงชำระ-ประวัติค้างในเครดิตบูโรดึงกลับมาชำระ 5-10% ประเมินแล้วจะครอบคลุมลูกหนี้อีกเกือบ 1 ล้านรายนั้น

 ทั้งนี้ มีมุมมอง slightly positive ต่อประเด็นข่าวการแฮร์คัตเงินกู้ส่วนบุคคลและบัตรเครดิต สำหรับลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เกิน 1 ปี เพราะสินเชื่อกลุ่มนี้มีการ ตัดจำหน่ายหนี้สูญ (write-off) เร็ว ทำให้คาดว่าหนี้สูญรับคืนของสถาบันการเงินจะกลับมาเร็วมากขึ้น พร้อมกับมองคนที่จะได้รับประโยชน์เป็นสถาบันการเงินที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตมากสุด โดยเรียงลำดับมากไปน้อย ดังนี้

กลุ่มธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB สัดส่วน 26% ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB สัดส่วน 6% ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB สัดส่วน 5% ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP สัดส่วน 4%

 กลุ่มไฟแนนซ์ ได้แก่ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC สัดส่วน 98% บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS สัดส่วน 92% บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC สัดส่วน 10% บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD สัดส่วน 5%

Back to top button