PTTEP เด้ง 2% รับข่าวเร่งเพิ่มกำลังผลิตก๊าซ ปักหมุด “ยาดานา-อันดามัน”
PTTEP เด้ง 2% กางแผนเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติ ลั่นเดินหน้าเจาะสำรวจแหล่งยาดานาในเมียนมาเพิ่มอีก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน พร้อมเพิ่มกำลังผลิตแหล่งอาทิตย์เป็น 390 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เปิดแหล่งสำรวจก๊าซฯ ใหม่ในทะเล “อันดามัน” หากชนะประมูลสัมปทานปลายปีนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 ม.ค.68) ราคาหุ้น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ณ เวลา 11:10 น. อยู่ที่ระดับ 125 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 2.04% สูงสุดที่ระดับ 125 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 123.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 471.43 ล้านบาท
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP เปิดเผยว่า ปัจจุบันปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยของปตท.สผ.ยังดำเนินการตามแผน โดยแปลง G1/61 (เอราวัณ) เป็นไปตามสัญญาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แปลง G2/61 (บงกช) ตามสัญญาที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่แหล่งอาทิตย์สามารถผลิตได้มากกว่าสัญญาที่ 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 390 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะเดียวกันปตท.สผ.อยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาซื้อขายในแหล่งอาทิตย์เพิ่มขึ้นเป็น 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ทั้งนี้ ปตท.สผ.อยู่ระหว่างการเร่งขุดเจาะหลุมเพิ่มเติมในแปลงยาดานาประเทศเมียนมา หลังจากเชฟรอนถอนตัวออกไปเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซยาดานา ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 62.96% ปัจจุบันแหล่งยาดานาส่งก๊าซฯ เข้าไทยประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คาดว่าจะสามารถเพิ่มได้อีก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่คงต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี
รวมทั้งแหล่งซอติก้า ที่ส่งก๊าซฯ เข้ามาป้อนประเทศไทย ดังนั้นก๊าซน จากเมียนมาคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17% แม้ขณะนี้สัดส่วนจะลดลงเหลือ 14% แต่เชื่อว่าภายหลังจากเร่งผลิตก๊าซฯ ในแหล่งยาดานาเพิ่มขึ้น จะทำให้สัดส่วนกลับมาเท่าเดิม และจะเข้ามาถัวเฉลี่ยราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทย ลดการนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาสูง โดยจะเห็นว่าราคา LNG ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก หลังจากยูเครนยุติการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรป
ขณะที่โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ซึ่งบริษัท PETRONAS Carigali (JDA) Limited (PC JDA) เป็นบริษัทย่อยของ PETRONAS Carigali Sdn Bhd. ได้ขอต่ออายุสัญญากับรัฐบาลทั้งประเทศ โดยขยายอายุสัญญาต่อไปอีก 10 ปี จากเดิมจะหมดอายุในปี 2572 เป็นปี 2582
โดยโครงการ MTJDA เป็นโครงการก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ตั้งอยู่ในอ่าวไทยตอนล่างบริเวณพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ประกอบด้วย แปลง B-17 และ C-19, B-17-01 และ B-17-02 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,868 ตารางกิโลเมตร ดำเนินการภายใต้บริษัท Carigali-PTTEPI Operating Company Sdn Bhd (CPOC) โดยมีผู้ร่วมทุนประกอบด้วย บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของปตท.สผ. สัดส่วน 50% และ PC JDA สัดส่วน 50%
นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยังสนับสนุนการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน หลังจากก่อนหน้านี้ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการปิโตรเลียมเรียบร้อยแล้ว เมื่อปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งปตท.สผ.มีความสนใจและมองศักยภาพแหล่งอันดามัน แม้ยังไม่ได้สำรวจมาก่อนเพราะน้ำลึก 1,600 เมตรเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นแหล่งก๊าซฯ ขนาดใหญ่ โดยคาดว่าทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะประกาศภายหลังจากเปิดสัมปทานรอบ 25 เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเปิดให้สำรวจและผลิตพื้นที่อันดามันช่วงปลายปีนี้ จะต้องใช้เวลาสำรวจและผลิต 5-6 ปี เร็วขึ้นจากเดิมที่จ้องใช้เวลาถึง 9 ปี
สำหรับแผนการดำเนินงานของปตท.สผ.ปี 2568 ยังโฟกัสการขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานเป็นหลัก โดยเฉพาะแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย เมียนมา JDA และตะวันออกกลาง ได้แก่ เพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการปัจจุบัน โครงการผลิตหลักที่สำคัญเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ได้แก่ โครงการจี 1/61 โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย และโครงการซอติก้าและโครงการยาดานาในเมียนมา ที่มีการนำก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เข้ามาใช้ในประเทศไทย อีกทั้งโครงการผลิตหลักในต่างประเทศ เช่น โครงการในมาเลเซีย และโอมาน เป็นต้น
สำหรับปี 2568 ปตท.สผ.คาดปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย 5.07 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน พร้อมจัดสรรงบประมาณ 5 ปี (ปี 2568-2572) รวมไว้ที่ 33,587 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.16 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ปตท.สผ.ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเริ่มดำเนินการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จึงได้สำรองงบประมาณ 5 ปี (ปี 2568-2572) เพิ่มเติมอีก 1,747 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานลมนอกชายฝั่ง ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS as a Service) ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการลงทุนในธุรกิจและเทคโนโลยีผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) ควบคู่กับการเตรียมความพร้อมขององค์กรช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต พร้อมกับการดูแลสังคมและชุมชนโดยรอบพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัท เพื่อสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายต่อไป
ทั้งนี้ ปตท.สผ.ยังมีแผนงานสำหรับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยครอบคลุม Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและ Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการ (Operational Control) พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายระหว่างทาง (Interim Target) ในการลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Intensity) จากปีฐาน 2563 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 30% และ 50% ภายในปี 2573 และ 2583 ตามลำดับ