หุ้นโรงไฟฟ้าร่วง! เซ่น “กกพ.” ทบทวน Adder-FiT หั่นค่าไฟฟ้าเหลือ 3.98 บาท

หุ้นโรงไฟฟ้าร่วง! เซ่น “กกพ.” เสนอนายกรัฐมนตรีลดค่าไฟ 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาท จากปัจจุบัน 4.15 บาทต่อหน่วย กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากโดนเรียบ เหตุเสนอทบทวนเงื่อนไข Adder และ FiT ใหม่ “บล.บัวหลวง” ประเมินผลกระทบราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ามีจำกัดแล้ว หลังรับข่าวร้ายค่าไฟ 3.70 บาทไปก่อนหน้านี้ ส่วนผลกระทบต่อผลประกอบการมองค่าไฟใหม่กดดันกำไร GPSC ลดลง 15%, GULF ลด 1%, GUNKUL ลดลง 2% และ WHAUP 3% ขณะที่กลุ่มไฟรีนิว BCPG, EA และ SPCG โดนผลกระทบจากค่า Adder


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(17ม.ค.68) ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าร่วงยกแผงนำโดย บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ณ เวลา 10:50 น. อยู่ที่ระดับ 3.04 บาท ลบ 0.12 บาท หรือ 3.80% ราคาสูงสุด 3.10 บาท ราคาต่ำสุด 3.00 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 104.22 ล้านบาท

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ณ เวลา 10:53 น. อยู่ที่ระดับ 31.50 บาท ลบ 0.25 บาท หรือ 0.79% สูงสุดที่ระดับ 32.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 31.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 48.37 ล้านบาท

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ณ เวลา 10:54 น. อยู่ที่ระดับ 14.70 บาท ลบ 0.40 บาท หรือ 2.65% สูงสุดที่ระดับ 15.10 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 14.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 109.06 บาท

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ณ เวลา 10:55 น. อยู่ที่ระดับ 110.50 บาท ลบ 0.50 บาท หรือ 0.45% สูงสุดที่ระดับ 111.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 109.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 6.89 ล้านบาท

บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ณ เวลา 10:51 น. อยู่ที่ระดับ 27.75 บาท ลบ 0.25 บาท หรือ 0.89% สูงสุดที่ระดับ 28.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 27.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 8.93 ล้านบาท

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ณ เวลา 10:50 น. อยู่ที่ระดับ 59.75 บาท ลบ 0.75 บาท หรือ 1.24% สูงสุดที่ระดับ 60.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 59.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 403.62 ล้านบาท

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การประชุมกกพ. ครั้งที่ 2/2568 (ครั้งที่ 943) เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา กกพ.มีมติให้สำนักงานกกพ.นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) รวมประมาณ 533 ราย กำลังการผลิตรวม 3,940 เมกะวัตต์ คิดเป็นต้นทุนสำคัญในโครงสร้างค่าไฟประมาณ 17 สตางค์ต่อหน่วย

ทั้งนี้ กกพ.เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาทบทวนนโยบายดังกล่าว เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ FiT สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณ 17 สตางค์ต่อหน่วย จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย โดยคาดหวังว่าจะสามารถลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่ง

โดยที่ผ่านมาการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าดังกล่าว เมื่อครบกำหนดอายุสัญญารับซื้อไฟก็ได้รับการต่อสัญญาในเงื่อนไขเดิม และให้ได้รับการอุดหนุนราคารับซื้อมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเดิมที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และรองรับปริมาณความต้องการเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสะอาดเข้ามาในระบบให้มากขึ้น ปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีความพร้อมสามารถรับมือกับการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าได้ดี ท่ามกลางการแข่งขันและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ทำให้เกิดการลดลงต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสนอให้ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อดังกล่าว

ขณะที่ ช่วงต้นปี 2565 เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวพุ่งสูงขึ้นเกือบ 6 เท่าตัว กกพ.แก้ปัญหาเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าหลายประการ และมีประการหนึ่งที่ยังไม่ได้ดำเนินการ คือ กกพ.มีมติเมื่อเดือนตุลาคม 2565 เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามมาตรา 11(12) โดยขอให้ฝ่ายนโยบายจัดการกับต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense) ประกอบด้วย โครงการ Adder และ FiT ซึ่งมีต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าราคาต้นทุนจริงในปัจจุบัน และโครงการผลิตไฟฟ้าแบบ Adder เหล่านี้ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา เป็นเหตุให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น และเป็นหน้าที่กกพ. ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65(1) ที่ควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้น หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับ Adder หน่วยละ 8 บาท (10 ปี) รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และในส่วนเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 หน่วยละ 2.1679 บาท หลายเท่าตัวหรือมีส่วนต่างหน่วยละ 8.9938 บาท หากนำส่วนต่างนี้ออกไปจากสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที

นอกจากนี้ ยังไม่กระทบต่อผู้ประกอบการด้วย 2 เหตุผลคือ 1. ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และ 2. การรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วย ดังนั้นหากลดค่าไฟฟ้าได้ทันที่ 17 สตางค์ ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือหน่วยละ 3.98 บาทต่อหน่วย จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ 33,150 ล้านบาท

ด้านนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า กรณีมีการแพร่ข่าวให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ใช้เทคนิคการสื่อสารด้วยการนำผลกระทบมาสร้างความน่าสนใจ (Interesting) โดยบิดเบือนว่าการจัดหาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ราคาหน่วยละ 2.1679 บาท จะทำให้ค่าไฟฟ้าตามบ้านเรือนแพง เมื่อประชาชนได้ยินว่า “ค่าไฟฟ้าแพง” จึงเกิดความสนใจและติดตามเรื่องนี้

ทั้งนี้ ขอชี้แจงว่าการรับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.1679 บาท ไม่ได้ทำให้ค่าไฟบ้านแพง หรือไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เพราะไฟฟ้าในส่วนนี้ผลิตมาเพื่อขายให้กับนักลงทุนที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด และมีอัตราที่สูงกว่าไฟบ้าน ดังนั้นแม้ยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 2.1679 บาทไปแล้ว ไม่ได้ทำให้ค่าไฟบ้านถูกลง เพราะค่าไฟฟ้าจากกลุ่ม Adder และ FiT ซึ่งมีราคาหน่วยละ 3.1617 ถึง 11.1617 บาท ฝังอยู่กับค่าไฟบ้าน ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่กกพ.จัดหาไปแล้วนั้น ไปคิดกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งสองส่วนนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกันในเรื่องของราคาค่าไฟ

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) มองว่าการปรับค่าไฟของ FiT เกิดขึ้นได้ยาก เพราะเป็นสัญญาระยะยาว 25 ปี แต่สำหรับโครงการแบบ Adder มีความเป็นไปได้ เพราะสัญญาเป็นแบบสัญญา 10 ปีแรก (ค่าไฟฐานรวม Adder) ต่อสัญญาได้อีกไม่เกิน 3 ครั้ง ครั้งละ 5 ปี (ไม่มีค่า Adder) ถ้าเจรจากกันระหว่างรอยต่อของสัญญาอาจเป็นไปได้

สำหรับผลกระทบ อาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน 1) บริษัทที่มีโครงการ Adder ที่มีรอยต่อในช่วงปี 2568 และ 2) กลุ่ม SPP ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องค่าไฟ โดยเฉพาะในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มี Adder คงไม่กระทบทุกราย หลัก ๆ น่าจะกระทบในส่วนโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งค่าไฟฐานจาก 3 บาทกว่าต่อหน่วย อาจมีการเจรจาต่อรองเหลือ 2 บาทกว่าต่อหน่วย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG, บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG จะได้รับผลกระทบ

ส่วนกรณีบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL มีโครงการพลังงานลมใกล้หมด adder แต่เนื่องจากต้นทุนค่าไฟโครงการพลังงานลมที่กกพ.ประมูลอยู่ที่ 3 บาทต่อหน่วย เมื่อเทียบกับค่าไฟไม่รวม Adder ที่อยู่บริเวณ 3 บาทต่อหน่วยเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก

อีกกลุ่มที่จะกระทบคือ SPP หลังค่าไฟกลางลดจาก 4.15 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย โดยเบื้องต้นมอง downside ต่อคาดการณ์กำไรหลักปี 2568 สำหรับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM คาดกำไรลดลง 11%, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ลดลง 15%, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ลดลง 1%, GUNKUL ลดลง 2%, และบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP ลดลง 3%

อย่างไรก็ดี มองว่าราคาหุ้นกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากความกังวลค่าไฟ 3.70 บาทต่อหน่วยไปมากแล้ว ดังนั้นกรณีล่าสุดค่าไฟ 3.98 บาทต่อหน่วย จึงถือว่ามีความชัดเจนมากขึ้น และอาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ตลาดกังวล ดังนั้น downside ที่หุ้นจะลงต่อมีค่อนข้างจำกัด

บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(17 ม.ค.68) ว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) มีมติให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุง เงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ Feed in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท

ในเชิงกลยุทธ์ แม้ทางพื้นฐานเราประเมินกระทบ GULF, GPSC, BGRIM, BCPG, EGCO, RATCH จำกัด โดยหากมีการลด Adder หรือ FiT ลง 0.17 บาท จะกระทบหุ้นพลังงานหมุนเวียน เช่น GUNKUL, EA, SPCG, SSP, WEH

อย่างไรก็ดี ทิศทางดังกล่าวสะท้อนถึงความเสี่ยงกฎระเบียบต่อกลุ่มโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยรวมประเมินจิตวิทยาลบกลุ่มโดยรวม เชิงกลยุทธ์ เน้นหุ้นกระทบจำกัด และมีโอกาสได้ประโยชน์จากการดึงเม็ดเงินลงทุน Data Center ดีขึ้นหากค่าไฟถูกลง เน้น GULF

Back to top button