MASTER เด้ง 12% หลัง “หมอเส” เคลียร์ชัดข่าวลือ ยันไม่ขายหุ้นอีก-ไร้เอี่ยวเพิ่มทุน TRC
MASTER เด้งกลับ 12% หลังนายแพทย์ระวีวัฒน์ (หมอเส) เคลียร์ชัด 4 ประเด็นข่าวลือ! “ยืนยันจะไม่มีการขายบิ๊กล็อตหุ้น MASTER อีก ไม่ได้ร้อนเงิน-ไร้เอี่ยวเพิ่มทุนTRC-งบปี 67 โตตามนัด ด้านโบรกเกอร์ ชี้การบันทึกการปันส่วนราคาซื้อ (PPA) ตามคาด 40-50 ล้านบาท หลังพันธมิตรทุกรายสร้างการเติบโตได้ดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 ม.ค.68) ราคาหุ้น บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ณ เวลา 10:09 น. อยู่ที่ระดับ 33.00 บาท บวก 3.50 บาท หรือ 11.86% สูงสุดที่ระดับ 33.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 31.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 156.77 ล้านบาท
สำหรับราคาหุ้น MASTER ดีดตัวกลับ ตอบรับเมื่อวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา นายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล (หมอเส) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER และนางสาวลภัสรดา เลิศภานุโรจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MASTER เปิดใจให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” เคลียร์ประเด็นข่าวลือ! หลังวันที่ 16 มกราคม 2568 ได้ดำเนินการขายหุ้น จำนวน 11,366,900 หุ้น คิดเป็น 3.78% ในราคาหุ้นละ 37 บาท ให้กับ 4 กองทุนต่างประเทศ ผ่านกระดานรายใหญ่ (Big Lot) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยเป็นการขายหุ้นของหมอเสโดยตรง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 1 ของ MASTER
นางสาวลภัสรดา เลิศภานุโรจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 มกราคม 2568 นายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล (หมอเส) ได้ดำเนินการขายหุ้น จำนวน 11,366,900 หุ้น คิดเป็น 3.78% ในราคาหุ้นละ 37 บาท ให้กับ 4 กองทุนต่างประเทศ ผ่านกระดาน Big Lot ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยตรง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 1 ของ MASTER ขณะที่ธุรกิจของ MASTER เป็นธุรกิจ Cash Cow และส่วนตัวหมอเสก็มีเงินอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เป็นการขายเพราะร้อนเงิน
สำหรับกองทุนจากยุโรป และสหรัฐอเมริกา จำนวน 4 กองทุนที่เข้ามาถือหุ้นใน MASTER นั้น ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ เนื่องจากกองทุนดังกล่าวมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ไม่ได้ติดอันดับ 10 รายแรก จึงขอไม่เปิดเผยถึงชื่อกองทุนดังกล่าว ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) และกองทุนรวม (Mutual Fund)
ทั้งนี้ “หมอเส” มีเกณฑ์ในการเลือกพันธมิตรอยู่แล้ว ดังนั้น การเลือกกองทุนที่จะเข้ามาถือหุ้น MASTER ก็ต้องเป็นกองทุนที่ตั้งใจจะเข้ามาถือหุ้นเราจริง ๆ ซึ่งในทุก ๆ ครั้งที่ออกไปโรดโชว์ จะมีกองทุนกลุ่มนี้เข้าร่วมรับฟังข้อมูลด้วยทุกครั้ง ทั้งในสิงคโปร์ และในฮ่องกง รวมถึงมีการมาเยี่ยมชมกิจการในประเทศไทยด้วย
โดยจากการเดินสายไปโรดโชว์มาในหลาย ๆ ที่ ได้รับการขอจากกองทุน รวมถึงนักลงทุนจำนวนมากว่าหุ้น MASTER มีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) น้อย ทาง “หมอเส” จึงได้ให้โจทย์กับทางทีมงานในการจะเพิ่ม Free Float โดยมีนโยบายให้เพิ่มไม่เกิน 5% แต่จึงเป็นที่มาของการทำรายการขายหุ้น 3.78% และหลังจากนี้จะไม่มีการขายหุ้นออกมาอีกแล้ว ส่วนราคาหุ้นเป็นการอิงสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เกิดสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Win Win Situation) จึงเป็นที่มาว่าราคาน้อยกว่า IPO หรือไม่
“Strategy ในแต่ละช่วงของเรามันต่างกัน โดยหลังจากเราเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มา คือ 1.เราเป็นหุ้นโรงพยาบาลศัลยกรรมรายแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 2.เราปักธงไว้ว่าเราอยากเป็น Aesthetic Plastic อันดับ 1 ในประเทศไทย ดังนั้น จึงต้องมีการรวบตลาดก่อน ด้วยการทำ M&P (Mergers & Partnerships) ซึ่งเป็นช่วงที่เราเดินเร็ว จากนั้นในเฟสถัดมาเราต้องมีการพัฒนา ปรับปรุง จนสามารถสร้างรายได้ และ Take Equity เพื่อส่งผลประโยชน์มาที่ MASTER และในเฟสถัดไปเราเริ่มทำ M&P ช้าลง” นางสาวลภัสรดา กล่าว
โดยในปี 2568 MASTER มีแนวคิดว่าจะเป็น Regional Company ซึ่งจะสอดคล้องกับการเปิดตลาดต่างประเทศ ที่มีเป้าหมายปรับสัดส่วนรายได้จากลูกค้ากลุ่มต่างประเทศเพิ่มเป็น 40% จากเดิม 27% และเป้าหมายสูงสุดของ MASTER คือการเป็น Specialty Hospital (โรงพยาบาลเฉพาะทาง) ดังนั้น จึงมีการมีโอกาสเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่จะมีการจัดเรียงไปตามลำดับ
‘หมอเส’ เคลียร์ชัด 4 ประเด็น
นายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MASTER เปิดเผยว่า ตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จนย้ายเข้ามาเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีหลาย ๆ กองทุนที่สนใจจะเข้ามาถือหุ้น MASTER ซึ่งทางด้านนางสาวลภัสรดา เลิศภานุโรจ และทีม ได้มีการเดินทางไปโรดโชว์ที่ต่างประเทศค่อนข้างมาก ซึ่งมีหลายกองทุนที่สนใจที่เข้ามาถือหุ้น MASTER อย่างต่อเนื่อง แต่ตนยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยหลาย ๆ กองทุนได้รับคอมเมนต์ว่าหุ้น MASTER มี Free Float น้อยมาก ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น จุดเริ่มต้นแรกของการทำรายการขายหุ้นบิ๊กล็อตให้ 4 กองทุนต่างประเทศในครั้งนี้ คือต้องการเพิ่ม Free Float ที่มีอยู่น้อย
“ส่วนราคาหุ้นที่ขาย เราได้ทำการตกลงกัน ณ วันนั้น เมื่อเราตกลงไปแล้ว กองทุนก็ได้เข้ามาศึกษาไปหมดแล้ว แล้วเค้าก็สนใจเราจริง พอราคาหุ้นมันปรับลดลงมา เราจะบอกไม่ขายราคานี้ โดยที่ไม่อ้างอิงราคาตลาดก็ไม่ได้ เรามีการปรึกษากันปรับตามสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วจุดมันมีอยู่แค่นี้ ส่วนมีกระแสข่าวลือว่า “หมอเส” ได้เร่ขายหุ้น MASTER ที่ราคา 48 บาทต่อหุ้น มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมานั้น ต้องบอกก่อนว่ามีกองทุนหลาย ๆ กองทุนที่สนใจในหุ้น MASTER และยิ่งเห็นว่าแนวโน้มของผลประกอบการของ MASTER จะดีขึ้นด้วย ยิ่งทำให้ทุกกองทุนอยากเข้ามาถือหุ้น MASTER ซึ่งนั้นเป็นส่วนที่เราต้องดู แต่เราต้อง Balance Free Float (สร้างสมดุลของจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย) ว่าให้อยู่ในระดับไหนที่กำลังดี” นายแพทย์ระวีวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังยืนยันใน 4 ประเด็น ดังนี้ คือ 1.ยืนยันจะไม่มีการขายหุ้น MASTER ในลักษณะนี้ออกมาอีกแน่นอน เพราะจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ที่ต้องการบรรลุเป้าหมายแล้ว, 2.การขายหุ้น MASTER ในครั้งนี้ ไม่ได้ร้อนเงินตามกระแสข่าวลือที่ออกมา เพราะส่วนตัวยังไม่กู้ยืมเงินเลย
3.ข่าวลือว่า “หมอเส” จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มทุนของบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเพิ่มทุนนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องของ Perspective (ทัศนคติ) ซึ่งปัจจุบันเห็นอยู่แล้วว่า MASTER ได้ทำอะไร และมันจะมีผลเป็นอย่างไร ซึ่งหากนักลงทุนมีความสนใจในหุ้น MASTER ก็ควรดูที่ 2 เรื่อง คือ 1.พื้นฐานของธุรกิจ เห็นได้จากงบการเงินที่เติบโต และ 2.ในเรื่องของ Free Float ซึ่งการจะทำอะไรบางอย่างมันต้องมีเหตุผล
4.ขอยืนยันว่าแนวโน้มของงบปี 2567 ยังคงเป็นไปตามแผน และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับบทวิเคราะห์ของหลาย ๆ โบรกเกอร์ ซึ่งตลอดการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มา MASTER สามารถสร้างผลงานได้ตามเป้าหมายมาโดยตลอดและในส่วนของพันธมิตรยังเป็นไปตามที่บริษัทคาดการณ์ และคาดว่าการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากพันธมิตรจะอยู่ที่ 40-50 ล้านบาท ซึ่งพันธมิตรทุกรายยังคงสร้างการเติบโตได้ดี
“การลงทุนของ MASTER แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรก คือช่วงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ใหม่ ๆ MASTER ได้มีการปักหมุดลงทุนในหัวหาดหลัก ๆ เช่น ขอนแก่น หาดใหญ่ เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งการเลือกพันธมิตร จะพิจารณาจากการมีธุรกิจที่ดี มีจุดแข็งที่ชัดเจน และเป็นผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจ ขณะที่ในเฟสสอง ปัจจุบันมองว่าเป็นเฟสที่ยังคงต้องพัฒนาระบบ เพื่อสร้างการเติบโต และเริ่มเก็บเกี่ยวผลจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา” นายแพทย์ระวีวัฒน์ กล่าว