3 หุ้นโรงกลั่นร่วง! หลัง “สภาอุต-TDRI” หนุนยกเลิกอ้างอิง “ค่ากลั่นน้ำมันสิงคโปร์”
SPRC-TOP-BCP ร่วง! หลังประธานสภาอุตสาหกรรม-ทีดีอาร์ไอ หนุนยกเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ ลดซ้ำซ้อน กดราคาน้ำมันลง 2 บาท/ลิตร กระทรวงพลังงานเตรียมนำระบบ Cost Plus ใช้แทน"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (21 ม.ค.68) ณ เวลา 10:45 น. ราคาหุ้น บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 5.65 บาท ลบ 0.05 บาท หรือ 0.88% สูงสุดที่ระดับ 5.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 5.60 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 14.73 ล้านบาท
ราคาหุ้น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP อยู่ที่ระดับ 26.50 บาท ลบ 0.25 บาท หรือ 0.93% สูงสุดที่ระดับ 26.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 26.25 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 64.23 ล้านบาท
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP อยู่ที่ระดับ 33.75 บาท ลบ 0.75 บาท หรือ 2.17% ราคาสูงสุด 34.50 บาท และราคาต่ำสุด 33.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 72.45 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรณี ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้ประเทศไทยยกเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ เพื่อทำให้ราคาน้ำมันในประเทศถูกลง
ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI หนุนแนวคิดดังกล่าว ซึ่งถ้ารัฐบาลหยิบมาเป็นนโยบาย ก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ โดยมองว่าไทยไม่มีความจำเป็นต้องอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ ที่มีการบันทึกค่าขนส่งทางเรือ ค่าประกันภัยการเดินทางและค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะว่าโรงกลั่นไทยสามารถกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปได้เองเกือบ 100% หากยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ได้ จะทำให้ราคาน้ำมันของไทยถูกลงได้กว่า 1 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ หากมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่มีความซ้ำซ้อน ทั้งการจัดเก็บภาษี และเงินเข้ากองทุนฯ ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในโครงสร้างราคาน้ำมันด้วย ซึ่งหากพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมันของไทย จะเห็นว่าราคาเฉพาะตัวเนื้อน้ำมันจริง ๆ จะอยู่ที่ประมาณ 20 กว่าบาทเท่านั้น แต่ไทยมีการเก็บภาษีที่ซ้ำซ้อน เช่น ภาษีท้องถิ่น (ภาษีเทศบาล) ภาษีสรรพสามิต เงินอุดหนุนกองทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและเงินอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวม ๆ แล้วส่งผลให้ภาษีน้ำมันของไทยสูงถึงประมาณ 7 บาทต่อลิตร สูงกว่าภาษีน้ำมันของสิงคโปร์ ที่อยู่ที่ 5.50 บาทต่อลิตร หรือเวียดนาม ที่อยู่ที่ 1.70 บาทต่อลิตร ทำให้ภาษีส่วนนี้ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น ซึ่งหากทำทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวมานี้ จะทำให้ราคาน้ำมันในประเทศลดลงได้กว่า 2 บาทต่อลิตร ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ ยังเสนอให้กำหนดโควตาการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่น เพื่อป้องกันการส่งออกน้ำมันไปค้ากำไรในต่างประเทศ จนส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันที่จำหน่ายในประเทศด้วย และมองว่าการกดราคาน้ำมันให้ถูกลง เป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า เมื่อเทียบกับแนวทางในการกดราคาค่าไฟฟ้าที่มีการพูดถึงในก่อนหน้านี้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการยกเลิกอ้างอิงตลาดน้ำมันสิงคโปร์ เพราะจะทำให้การทำงานง่ายขึ้น หากไทยยังอิงตลาดสิงคโปร์ซึ่งเป็นระบบเดิมก็จะมีส่วนต่างราคา เช่น หากนำเข้าน้ำมันที่มีต้นทุนราคาถูก แต่โรงกลั่นฯ ไม่ได้ลดราคาตามข้อเท็จจริงเพราะอ้างราคาตลาดสิงคโปร์ ดังนั้นหากกระทรวงพลังงานไม่อ้างอิงตลาดสิงคโปร์แล้ว ต้องบริหารจัดการกลไกให้ทันสถานการณ์และโปร่งใส
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แนวทางการกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมัน ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่อยู่ระหว่างการแก้กฎหมายพลังงาน โดยหนึ่งในนั้นมีการแก้กฎหมายด้านพลังงาน เพื่อใช้กำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมัน โดยจะนำระบบคิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง (Cost Plus) เข้าใช้แทนระบบอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันต้องอ้างอิงตลาดน้ำมันสิงคโปร์นั้น
ทั้งนี้ หากประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้ระบบ Cost Plus สามารถดำเนินการได้ตามนโยบายของภาครัฐ แต่เฉลี่ยแล้วราคา ณ โรงกลั่น ก็ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ราคาน้ำมันของไทยที่แพงเพราะบวกภาษีหลายตัว ทั้งภาษีสรรพสามิต VAT กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันเบนซิน ราคา ณ โรงกลั่นลิตรละ 19.56 บาท บวกภาษีสรรพสามิต 6.50 บาท บวกด้วยเงินเรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 10.68 บาทต่อลิตร เมื่อรวม VAT และค่าการตลาด รวมราคาขายปลีกอยู่ที่ 44.44 บาทต่อลิตร ดังนั้นราคาขายปลีกสูงขึ้น ซึ่งไม่ใช่แพงเพราะอิงราคาตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด
อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านพลังงานที่ต้องการให้พลังงานราคาถูก แต่ไม่เกิดการประหยัด สุดท้ายแล้วประเทศไทยก็ต้องนำเข้าน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
ด้านแหล่งข่าวจากโรงกลั่นน้ำมัน ระบุว่า ติดตามนโยบายของรมว.พลังงาน เรื่อง Cost Plus ว่าทำอย่างไร เพราะปกติโรงกลั่นเสี่ยงมาก ทั้งขาซื้อน้ำมันดิบและขาขายน้ำมันสำเร็จรูป แต่การใช้ Cost Plus เข้าใจว่า fix margin อย่างไรก็ตามเรื่องต้นทุนของแต่ละโรงกลั่นไม่เหมือนกัน ขึ้นกับ complexity ของโรงกลั่นและชนิดของน้ำมันดิบที่เลือกซื้อ ปกติจะใช้ Linear programming เป็นระบบช่วยตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศแพงกว่าต่างประเทศมาก ภาครัฐจะห้ามโรงกลั่นนำเข้าน้ำมันราคาถูกมาขายหรือไม่ และหากราคาน้ำมันในประเทศถูกกว่าต่างประเทศมาก จะห้ามโรงกลั่นส่งออกหรือไม่ ดังนั้นคงต้องคอยติดตามว่าจะออกมาเป็นแนวทางอย่างไร
ขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้ชี้แจงถึงกรณี “ทำไมประเทศไทยจะต้องอ้างอิงราคาน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์” ว่าราคาเนื้อน้ำมันในประเทศไทยอ้างอิงราคาจากประเทศสิงคโปร์ เพราะตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดกลางในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ราคาดังกล่าวไม่ใช่ราคา ณ โรงกลั่นสิงคโปร์ หรือราคาขายที่สถานีบริการน้ำมันสิงคโปร์ แต่เป็นราคาที่ผู้ค้าตกลงซื้อ-ขายผ่านตลาดกลางแห่งนี้ ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับอีกหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย เป็นต้น อีกทั้งตลาดน้ำมันสิงคโปร์เชื่อถือได้ เพราะมีผู้ซื้อขายหลายร้อยราย นอกจากนี้ตลาดน้ำมันสิงคโปร์สะท้อนกลไกตลาดจริงอ้างอิงราคาได้
นอกจากนี้ ต้นทุนโรงกลั่นในไทยสูงกว่าสิงค์โปร์ เนื่องจากประเทศไทยมีขนาดกำลังการกลั่นน้อยกว่า อีกทั้งธุรกิจโรงกลั่นใช้เงินลงทุนสูง ขนาดกำลังการผลิตจึงมีผลต่อต้นทุนการผลิต ทำให้โรงกลั่นสิงคโปร์ได้เปรียบโรงกลั่นไทย ประกอบกับการสำรองน้ำมัน โรงกลั่นสิงคโปร์ไม่ต้องสำรองน้ำมัน แต่โรงกลั่นไทยต้องสำรองน้ำมัน เมื่อไม่ต้องสำรองน้ำมัน ทำให้โรงกลั่นมีความยืดหยุ่นในการใช้ประโยชน์จากถังเก็บน้ำมันมากขึ้น กระบวนการผลิตจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้โรงกลั่นในประเทศไทยผลิตน้ำมันคุณภาพสูงกว่า (ยูโร 5) เพื่อให้สามารถแข่งขันกับการนำเข้าน้ำมันจากโรงกลั่นสิงคโปร์
ดังนั้น กล่าวสรุปคือ ต้นทุนเนื้อน้ำมันของไทยใช้หลักการกำหนดราคาแบบ Import Parity ที่อ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ไม่ได้เป็นราคาที่ประกาศโดยประเทศสิงคโปร์ หรือโรงกลั่นสิงคโปร์ แต่เป็นราคาที่สะท้อนถึงการซื้อขายของทุกประเทศในภูมิภาคนี้ โดยราคาน้ำมันจะมีค่าในการปรับปรุงคุณภาพ เพื่อปรับให้สอดคล้องกับคุณภาพของประเทศไทย และรวมค่าขนส่งซึ่งในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปตามระยะทาง ทั้งนี้การกำหนดราคาดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค อาทิ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย และมาเลเซีย เป็นต้น
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ความคืบหน้าร่างกฎหมายกำกับการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเสร็จแล้ว ตอนนี้กำลังตรวจแก้ไขต้นร่างเกือบเสร็จแล้ว กฎหมายนี้จะมีกติกาที่ไม่ให้ปรับราคาน้ำมันขึ้นลงรายวัน มีระบบพิสูจน์ต้นทุน และยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันที่ตลาดสิงคโปร์ โดยนำระบบต้นทุนบวกค่าใช้จ่ายจริงที่เรียกว่าระบบ Cost Plus มาใช้แทน ที่สำคัญคือจะให้มีน้ำมันเพื่อเกษตรกรและชาวประมงในราคาที่ถูกลง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่งและองค์กรสาธารณกุศลสามารถนำน้ำมันเข้ามาใช้ได้เอง จะช่วยลดต้นทุนลงได้มาก และยังจะเปิดโอกาสให้รัฐสามารถจัดให้มีน้ำมันเพื่อผู้มีรายได้น้อยด้วย
นายสุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันขายปลีกที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการเสนอกันมาหลายรัฐบาลแล้ว แต่เนื่องจากแต่ละโรงกลั่นมีต้นทุนที่แตกต่างกันไป ทำให้การคิดคำนวณต้นทุนเฉลี่ยเป็นไปได้ค่อนข้างยาก
นอกจากนี้ กลุ่มโรงกลั่นในช่วงที่ผ่านมา ก็ประสบปัญหาซัพพลายเกิน หากนำระบบ Cost Plus มาใช้แทน ก็อาจเป็นประโยชน์ต่อโรงกลั่นที่มีต้นทุนต่ำ อย่างเช่น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ส่วนที่มีต้นทุนสูงก็อาจได้รับผลกระทบ อย่างบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP รวมทั้งบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC
ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้นทุนดำเนินการของโรงกลั่นในประเทศไทยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 3.5-4.5 เหรียญต่อบาร์เรล โดยยังไม่รวมต้นทุนราคาน้ำมันดิบที่นำเข้าของแต่ละโรงกลั่นที่ไม่เท่ากัน ทั้งนี้บริษัท ไทยออยล์ มีต้นทุนดำเนินการต่ำสุด เนื่องจากมีขนาดกำลังการผลิตที่สูง และเป็นโรงกลั่นที่ทันสมัย ขณะที่โรงกลั่นบางจากภายหลังจากรวมกับเอสโซ่ ต้นทุนดำเนินการก็ยังสูงกว่าไทยออยล์
ดังนั้น การเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นราคาสากล ก็อาจส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นที่มีต้นทุนสูง แต่ก็ต้องมาดูในรายละเอียดว่ารัฐจะเลือกใช้ราคา Cost Plus มาแทนว่าจะอิงที่ราคาใด
อย่างไรก็ตาม ระยะการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานน้ำมันไปสู่พลังงานไฟฟ้า จะกดดันให้ราคาน้ำมันดิบโลกลดลง รวมทั้งราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สิงคโปร์ด้วย ดังนั้นหากประเทศไทยยกเลิกการใช้ราคาอ้างอิงที่สิงคโปร์ ราคาน้ำมันของไทยก็อาจสูงกว่าเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
“เชื่อว่าการเลิกใช้ระบบอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สิงคโปร์จะไม่กระทบต่อหุ้นโรงกลั่นมากนัก เนื่องจากปัจจุบันมาร์จิ้นของกลุ่มนี้ก็ต่ำอยู่แล้ว แต่ถ้าใช้ระบบ Cost Plus มาแทนอาจส่งผลดีมากกว่า เพราะราคาค่อนข้างแน่นอน”