หุ้น “รับเหมา” ดีดบวก! รับครม.ไฟเขียวไฮสปีด “ไทย-จีน” เฟส 2 มูลค่า 3.4 แสนล้าน

หุ้นรับเหมาดีดบวก! CK นำทีมเด้ง 2% รับครม.ไฟเขียวไฮสปีด “ไทย-จีน” เฟส 2 มูลค่า 3.4 แสนล้าน ดีเดย์เริ่มก่อสร้างปีนี้ เปิดให้บริการปี 74 ด้าน“โบรกเกอร์” ประเมิน CK-STECON-ITD และ UNIQ มีโอกาสชนะประมูลสูง มอง “ช.การช่าง” เด่นสุด ราคาเป้าหมาย 25 บาท จับตาม้ามืดกลุ่ม CP สนใจเข้าชิงเส้นทางเชื่อมสู่จีน ส่วนกลุ่มวัสดุก่อสร้างยกให้ SCC โดดเด่น เชื่อคำสั่งซื้อทะลัก “บล.กรุงศรี” มองรัฐบาลเร่งลงทุนเมกะโปรเจกต์ ช่วยดันจีดีพีเพิ่ม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 ก.พ.68) หุ้นรับเหมาก่อสร้างบวกคึก นำโดย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ณ เวลา 10:13 น. อยู่ที่ 16.50 บาท บวก 0.30 บาท หรือ 1.85% ราคาสูงสุด 16.60 บาท ราคาต่ำสุด 16.50 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 2.76 ล้านบาท

บริษัท สเตคอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ STECON ณ เวลา 10:10 น. อยู่ที่ 5.50 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 1.85% ราคาสูงสุด 5.50 บาท ราคาต่ำสุด 5.35 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 2.43 ล้านบาท

บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ณ เวลา 10.06 น. อยู่ที่ 2.20 บาท บวก 0.02 บาท หรือ 0.92% ราคาสูงสุด 2.20 บาท ราคาต่ำสุด 2.20 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 0.07 ล้านบาท

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (4 ก.พ. 2568) อนุมัติให้ดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร (กม.) กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ปีงบประมาณ 2568-2575) โดยให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี และให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ และค้ำประกันเงินกู้ให้ตามความเหมาะสม

ก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบจากครม.แล้ว คาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้าง และเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2568 และเปิดให้บริการปี 2574 จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็วและความปลอดภัยให้ประชาชน รวมทั้งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนไทยกับสปป.ลาวและจีนด้วย

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพ-หนองคาย เป็นการดำเนินการตามร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างไทยและจีน ว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ซึ่งที่ผ่านมาครม.มีมติเมื่อ 11 กรกฎาคม 2560 อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการ ระยะที่ 1 คือ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบประมาณ 2560-2563) ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ระยะที่ 1 ล่าช้ากว่ากำหนด โดยมีความคืบหน้าภาพรวม 35.74% และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571

นายจิรายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงคมนาคม โดยรฟท. ได้ขออนุมัติดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย การดำเนินการ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากโครงการฯ ระยะที่ 1 ที่จะเริ่มต้นที่ จ.นครราชสีมา ไปถึง จ.หนองคาย วงเงิน 335,665.21 ล้านบาท ระยะทาง 357.12 กม. ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่, บ้านไผ่, ขอนแก่น, อุดรธานี และสถานีหนองคาย โดยเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2568 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2575

ส่วนที่ 2 การก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงิน 5,686.21 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.หนองคาย ซึ่งเป็นการก่อสร้างศูนย์บริการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟ ทั้งขาเข้า-ขาออก ระหว่างทางขนาด 1 เมตร ของรถไฟไทย และขนาดทางมาตรฐาน 1.45 เมตร ของโครงการรถไฟลาว-จีน ในรูปแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One stop service)

สำหรับโครงการระยะที่ 2 เมื่อพิจารณาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) เชิงกว้าง กรณีโครงการฯ ระยะที่ 1+2 พบว่า มีอัตราผลตอบแทน EIRR ที่ 13.23% ซึ่งยังมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ อีกทั้งคณะกรรมการรฟท.มีมติเห็นชอบโครงการฯ ระยะที่ 2 และได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการฯ ระยะที่ 2 แล้ว

ทั้งนี้ เลขาธิการครม.ได้สรุปความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นควรให้กระทรวงคมนาคมเร่งจัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารจัดการรถไฟความเร็วสูงเสนอครม.พิจารณาโดยเร็ว และให้รฟท.ศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ และเสนอขออนุมัติพร้อมกันกับการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยให้ทบทวนและปรับปรุงสมมติฐานที่ใช้ในการศึกษาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการว่า ขอให้กระทรวงคมนาคมและรฟท. เร่งรัดโครงการฯ ระยะที่ 1 ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากล่าช้ากว่าแผนมานานแล้ว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในการประชุม เรื่องการเยือนจีนอย่างเป็นทางการวันนี้ (5 ก.พ. 2568) จะมีการผลักดันและติดตามความร่วมมือสำคัญ ได้แก่ ในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน โดยให้เร่งส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนด้านการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะในสาขาแห่งอนาคตที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและดิจิทัล เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดักเตอร์ และดาต้าเซ็นเตอร์ และขอให้เดินหน้าพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) และพร้อมเปิดรับการลงทุนจากประเทศจีนหากนักลงทุนจีนให้ความสนใจ

บิ๊กโฟร์ก่อสร้าง-ซีพีเข้าชิง

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มผู้รับเหมาขนาดใหญ่ หรือบิ๊กโฟร์ ได้แก่ STEC, CK, TID, บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ จะได้ประโยชน์จากการเปิดประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสสอง ในครั้งนี้ ขณะที่กลุ่มวัสดุก่อสร้าง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC มีความโดดเด่นที่จะรับอานิสงส์จากโครงการดังกล่าว

บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุ ครม.มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา ถึงหนองคาย มูลค่า 3.4 แสนล้านบาท เป็นจิตวิทยาบวกต่อหุ้นในกลุ่มรับเหมาฯ สอดคล้องกับมุมมองของบริษัท ซึ่งคาดว่าจะเห็นการเร่งลงทุนภาครัฐมากขึ้นเพื่อเป็นฟันเฟืองหลักขับเคลื่อน GDP ในปีนี้ แนะนำ “ซื้อ” STECON และ CK

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า หุ้นกลุ่มบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์สูงจากโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 ดังกล่าว คือ 1.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK 2.บริษัท สเตคอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ STECON และ 3.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD โดยประเมินว่า CK จะมีความโดดเด่นสุด เพราะมีศักยภาพการรับงานสูง แม้จะเพิ่งได้รับงานขนาดใหญ่ คือ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย แต่ก็ยังมีความสามารถเหลือเพียงพอ ทั้งสภาพคล่องและเงินลงทุนที่จะรับงานขนาดใหญ่เพิ่มได้อีก รวมทั้งการส่งต่องานแก่ผู้รับเหมาช่วง ซึ่ง CK มีคุณภาพในการควบคุมงานได้ แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 25 บาท

นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่ากลุ่มซีพี หรือ  CP จะให้ความสนใจในโครงการดังกล่าวด้วย เนื่องจากกลุ่ม CP เคยให้ความสนใจต่อการรับงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงเหมือนกัน แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จในการเดินหน้าโครงการสามสนามบิน แต่โครงการรถไฟไทย-จีนนี้มีข้อโดดเด่นกว่าสำหรับกลุ่ม CP คือการเป็นเส้นทางเชื่อมต่อสู่ประเทศจีน

Back to top button