สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้

สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 15 ก.พ.59


 – เงินเยนอยู่ที่ระดับ 113.97 เยน/ดอลลาร์ จากตอนเช้าที่อยู่ที่ระดับ 113.55 เยน/ดอลลาร์

– ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.12 ดอลลาร์/ยูโร จากตอนเช้าที่อยู่ที่ระดับ 1.1230 ดอลลาร์/ยูโร

– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,288.40 จุด เพิ่มขึ้น 11.91 จุด หรือ 0.93% มูลค่าการซื้อขาย 30,612.43 ล้านบาท

– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 143.53 ล้านบาท (SET+MAI)

 

– สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในปี 59 ที่เดิมคาดเติบโตราว 2.8-3.8% หรือมีค่ากลางราว 3.3% ซึ่งลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 3.0-4.0% จากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2559 ยังคงมีภาพลบและบวกปะปนกัน ไม่แตกต่างไปจากทิศทางของเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกมากนัก ทั้งนี้ประเมินในเบื้องต้นว่า แม้จะมีอานิสงส์ต่อเนื่องจากการเร่งผลักดันเม็ดเงินของภาครัฐในหลายๆ ช่องทาง แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2559 อาจชะลอลง เมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 2.8% จากปีก่อน ในไตรมาส 4/2558

– นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากที่ สภาพัฒน์แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ที่ขยายตัว 2.8% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และทั้งปี 2558 ที่ขยายตัว 2.8% ถือว่าภาพรวมใกล้เคียงกับที่ ธปท. ประเมินไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.พ.59 ที่ผ่านมา

– นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 ธันวาคม 2558 มีจำนวน 6,005,124.74 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.36 ของ GDP โดย GDP ปี 2558 เท่ากับ 13,537 พันล้านบาท (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ 15 กุมภาพันธ์ 2559) และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้นสุทธิ 29,358.39 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ในโครงการปรับปรุงแหล่งน้ำและถนน มูลค่า 8 หมื่นล้านบาทว่า คาดว่าในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.59 จะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 1.03 หมื่นล้านบาท จากที่ผ่านมาเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท และยังเหลืออีก 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทยอยเบิกจ่ายให้ครบภายในปีงบประมาณ 59 นี้

– รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2558 ของญี่ปุ่น หดตัวลง 1.4% หลังจากที่ขยายตัว 1.3% ในไตรมาส 3 โดยสาเหตุที่ทำให้ GDP ไตรมาส 4 หดตัวลงนั้น มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อ่อนแอลง ท่ามกลางสภาพอากาศที่อุ่นผิดปกติ รวมทั้งค่าแรงที่ขยายตัวช้าลง

– นายโยชิฮิเดะ สึกะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลงในไตรมาส 4/2558

– ธนาคารกลางจีนได้ปรับอัตราอ้างอิงเงินหยวนขึ้นเกือบ 1% สู่ระดับ 6.5118 หยวนต่อดอลลาร์ ในวันนี้ ส่งผลให้อัตราอ้างอิงเงินหยวนรายวันแข็งค่าที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.

– กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น รายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในเดือนธ.ค.ปรับตัวลง 1.7% จากระดับเดือนพ.ย. ซึ่งถือเป็นการปรับลดการทบทวนลงมากกว่าระดับการทบทวนเบื้องต้นที่ 1.4%

 

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์

Back to top button