![](https://media.kaohoon.com/wp-content/uploads/2025/01/JMART_2025-01-29_up.jpg)
JMART เด้ง 4% ตอบรับปี 67 พลิกกำไร 1.14 พันล้าน ปักธงปีนี้กำไรโต 30%
JMART เด้ง 4% ขานรับปี 67 พลิกกำไร 1.14 พันล้านบาท หนุนทุกธุรกิจแกร่ง ลั่นปี 68 กำไรโต 30% เดินหน้าจับมือพันธมิตร ขยายสินเชื่อมือถือด้วย AI Smart Phone พร้อมรุกบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 ก.พ. 68) ราคาหุ้น บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ณ เวลา 10:28 น. อยู่ที่ระดับ 10.40 บาท บวก 0.40 บาท หรือ 4.00% สูงสุดที่ระดับ 10.70 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 10.30 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 98.39 ล้านบาท
สำหรับ JMART รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 4/2567 มีกำไรสุทธิ 310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86.7% จากไตรมาส 4/2566 ส่งผลให้กำไรสุทธิทั้งปี 2567 อยู่ที่ 1,140 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2566 คิดเป็นเพิ่มขึ้น 355% (ปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 447 ล้านบาท)
ทั้งนี้บริษัทฯ ระบุทุกธุรกิจที่เป็นบริษัทย่อยและร่วมทุนต่างมีผลประกอบการเป็นไปตามแผนงานเริ่มจาก ธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เสริม ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด มีสาขาทั่วประเทศ 309 สาขา มียอดขาย 8,605 ล้านบาท ลดลง 1% และมีกำไรสุทธิ 90 ล้านบาท ส่วนปี 2568 คาดว่าจะมียอดขายสูงกว่าปีก่อนจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี จาก Smart Phone ไปสู่ AI Smart Phone
ประกอบกับการร่วมมือกับบริษัทในกลุ่มในการผลักดันยอดขายผ่านสินเชื่อมือถือ Locked Phone ทั้งในส่วนของ Samsung Finance+ โดยบริษัท เคบีเจ แคปปิตอล จำกัด และ SG Finance+ โดยบริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC (กำไรปี 2567 เท่ากับ 163 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 2,275 ล้านบาท ในปี 2566 )
นอกจากนี้ คาดหวังว่านโยบายการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐจะเพิ่มยอดขายให้ภายในปี 2568 ด้านธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ยังคงเป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการน่าพอใจ โดยในปี 2567 มีกำไรสุทธิ 1,615.2 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 19.7% ซึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทมีการตั้งสำรอง Expected Credit Loss (ECL) ที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บหนี้ที่น้อยกว่าประมาณการ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายบริหารของ JMT ได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยการเพิ่มมาตรการในการติดตามหนี้ด้อยคุณภาพให้ใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้ตั้งแต่ไตรมาส 3/2567 เป็นต้นมา ระดับ ของ ECL ที่ต้องสำรองลดลงอย่างชัดเจน และมีการจัดเก็บ หนี้คุณภาพที่ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งปี 2568 JMT คาดว่าจะมีระดับของ ECL ที่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J มีผลการดำเนินงานในปี 2567 มีกำไรสุทธิ 165.6 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 14% เนื่องจาก รายการปรับมูลค่ายุติธรรมที่ลดลง
ส่วนธุรกิจ “สุกี้ ตี๋น้อย” ภายใต้การบริหารของ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด สำหรับปี 2567 กลุ่มเจมาร์ทฯ ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้น 30% เท่ากับ 350.7 ล้านบาท จากผลกำไรสุทธิรวม 1,169 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2567 สุกี้ ตี๋น้อย มีทั้งหมด 78 สาขา, BBQ (บุฟเฟต์ปิ้งย่าง) 1 สาขา และ Teenoi Express (บุฟเฟต์พรีเมียม) อีก 1 สาขา
ขณะที่นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART กล่าวกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มเจมาร์ท ทั้งที่เป็นบริษัทย่อย และบริษัทร่วมทุน ต่างมีผลประกอบการน่าพอใจ และถือว่าเป็นไปตามแผนงาน สะท้อนถึงการกลับมาเติบโตอีกครั้งของกลุ่มฯ
“หากให้จัดบริษัทที่กลุ่มฯ เข้าไปถือหุ้นนั้น ทาง JMT จะมีสัดส่วนสร้างกำไรให้กับกลุ่มเจมาร์ทมากสุด รองลงมาคือ สุกี้ ตี๋น้อย, บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย หรือ SINGER และ SGC โดยในปี 2568 สัดส่วนที่กลุ่มฯ จะรับรู้กำไรนั้น จะยังคงออกมาเช่นเดียวกับปี 2567” นายอดิศักดิ์ กล่าว
ส่วนแผนงานที่กลุ่มเจมาร์ทวางไว้ในปี 2568 นั้น ทุกบริษัทในกลุ่มฯ จะเติบโตได้ต่อไป พร้อมกับวางแผนไว้ว่า จะมีกำไรสุทธิเติบโตประมาณ 30% จากปี 2567