AOT ร่วงต่อ 6% โบรกแนะขาย! หั่นเป้า 42 บ. กังวลแรงกดดันกระแสเงินสด “คิง เพาเวอร์”

AOT ร่วง 6% กังวลกระแสเงินสด "คิง เพาเวอร์" โบรกแนะขายหั่นเป้า 42 บาท ฟาก “กีรติ” พร้อมเรียกเก็บค่าปรับผิดนัดชำระอัตราร้อยละ 18 ต่อปี


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (17 ก.พ.68) ราคาหุ้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ณ เวลา 10:30 น. อยู่ที่ระดับ 44.25 บาท ลบ 2.75 บาท หรือ 5.85% สูงสุดที่ระดับ 47.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 41.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3,288.70 ล้านบาท

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” กรณีกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระการันตีรายได้ขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) แก่ AOT ได้ตามสัญญา ว่า ปัญหาสภาพคล่องของคิง เพาเวอร์นั้น เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อรายได้ของ AOT

เนื่องจากตามสัญญาแล้ว จะมีการกำหนดค่าปรับหรือดอกเบี้ยกรณีคิง เพาเวอร์ผิดนัดชำระไว้ปีละ 18% ของ Minimum Guarantee รวมทั้งมีแบงก์การันตีที่คิง เพาเวอร์วางไว้ตามเงื่อนไขในสัญญาด้วย โดยวงเงินแบงก์การันตีนั้นครอบคลุมรายได้ทั้งหมดที่ AOT ต้องได้รับตามสัญญาจนถึงสิ้นสุดสัญญาในปี 2572

อย่างไรก็ตาม ทางคิง เพาเวอร์ได้เจรจากับ AOT ขอลดอัตราค่าปรับลงจาก 18% ซึ่ง AOT ได้พิจารณาและนำเสนอคณะกรรมการ AOT พิจารณาแล้วให้ความเห็นชอบอัตราค่าปรับใหม่ที่ระดับ MLR+2% หรือประมาณกว่า 9% ต่อปี โดยยืนยันว่าแม้อัตราดอกเบี้ยปรับคิง เพาเวอร์จะลดลง แต่ไม่กระทบต่อสถานะการเงินของ AOT เพราะปัจจุบัน AOT มีต้นทุนทางการเงิน (เงินกู้) อยู่ที่ 3% ต่อปี ดังนั้นดอกเบี้ยปรับที่คิง เพาเวอร์ต้องเสียแก่ AOT ก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของ AOT

โดย AOT ได้เริ่มใช้อัตราดอกเบี้ยปรับ 9% กับคิง เพาเวอร์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 ขณะที่ปัจจุบันคิง เพาเวอร์ ยังคงมีการชำระ Minimum Guarantee ที่ต้องชำระทุกเดือนแก่ AOT อยู่ แต่เป็นการชำระล่าช้าหรือไม่ครบจำนวน โดยคิง เพาเวอร์มียอดค้างในบัญชีลูกหนี้การค้าสะสมจนถึงขณะนี้ที่ 4,000 ล้านบาท และ AOT ได้เริ่มทำการปรับคิง เพาเวอร์ตามสัญญามาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567

นายกีรติ กล่าวว่า แม้คิง เพาเวอร์จะขาดสภาพคล่อง แต่หากยังสามารถชำระค่าปรับได้ตามสัญญา ก็ยังสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ขณะที่ AOT ได้บันทึกรายได้จากคิง เพาเวอร์ตามรอบที่ต้องรับอยู่แล้ว ก่อนจะย้ายไปไว้ในบัญชีลูกหนี้ อีกทั้ง AOT ยังได้ค่าปรับเพิ่มตามสัญญาด้วย และเมื่อคิง เพาเวอร์สามารถชำระหนี้ได้แล้ว หรือทยอยชำระเข้ามา เงินส่วนดังกล่าวจะแปรเป็นกระแสเงินสดแก่ AOT แต่หากสุดท้ายคิง เพาเวอร์ไม่สามารถชำระหนี้ หรือค่าปรับได้ตามสัญญา AOT ก็จะยึดแบงก์การันตีเป็นขั้นตอนต่อไป อีกทั้งผู้สอบบัญชี AOT ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบแล้ว ประเมินว่า AOT ไม่มีความเสี่ยงที่จะสูญรายได้หรือไม่ได้รับการชำระจากคิง เพาเวอร์ เพราะแบงก์การันตีครอบคลุมความเสี่ยงของสัญญาทั้งหมด

“ยืนยันว่ากรณีนี้ไม่ได้กระทบรายได้ของเรา เรายังบันทึกรายได้จากคิง เพาเวอร์ทุกเดือนตามปกติ ที่ระบุในสัญญาก่อนจะย้ายเข้ารายการบัญชีลูกหนี้ ส่วนคิง เพาเวอร์ที่ยังไม่สามารถจ่าย Minimum Guarantee ได้ตามสัญญาจะต้องเสียค่าปรับ หรือดอกเบี้ยแก่ AOT ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะทยอยชำระเงินต้นที่ค้างไว้ได้ทั้งหมด ถ้าสุดท้ายคิง เพาเวอร์จ่ายไม่ไหวจริง ๆ AOT ก็จะยึดแบงก์การันตีตามสัญญา ซึ่งวงเงินครอบคลุมรายได้ทั้งหมดที่เราต้องได้รับตามสัญญาอยู่แล้ว” นายกีรติ กล่าว

นายกีรติ ยืนยันว่า AOT ไม่มีนโยบายปรับแก้สัญญา หรือปรับลด Minimum Guarantee ที่คิง เพาเวอร์ ต้องชำระแก่ AOT แม้ยอมรับว่าคิง เพาเวอร์จะเสนอขอเจรจาประเด็นนี้กับ AOT หลายครั้ง เพราะที่ผ่านมา AOT ได้ออกหลายมาตรการเพื่อช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ทุกราย จากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 จึงไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้อีกแล้ว และ AOT ในฐานะรัฐวิสาหกิจ จะต้องทำหน้าที่บริหารสัญญารัฐให้ดีที่สุด

ทั้งนี้ ตามสัญญาสัมปทานนั้น พบว่า คิง เพาเวอร์ จะเริ่มถึงจุดคุ้มทุนเมื่อผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานสุวรรภูมิอยู่ที่ 66 ล้านคน ซึ่งในปี 2568 AOT ประเมินว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมีผู้โดยสารรวม 65 ล้านคน ในจำนวนนี้ 80% หรือประมาณ 50 ล้านคน จะเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ ขณะที่ AOT เคยประเมินว่าอีก 3 ปีจากนี้ ผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานสุวรรรภูมิจะถึง 66 ล้านคน แต่จากอัตรการเติบโตของผู้โดยสาร ณ ปัจจุบัน ที่เติบโตเร็วกว่าที่ AOT คาดการณ์ จึงเชื่อว่าเป้าหมาย 66 ล้านคนดังกล่าวจะเกิดขึ้นเร็วกว่า 3 ปี จึงเชื่อว่าปัญหาของคิง เพาเวอร์ คงไม่ถึงจุดที่ AOT ต้องยึดแบงก์การันตีจนหมด

ขณะเดียวกัน AOT มีความต้องการบริหารสัญญาให้เดินหน้าต่อไปได้มากกว่าจะยุติสัญญา เพราะคิง เพาเวอร์ให้ข้อเสนอทั้ง Minimum Guarantee และส่วนแบ่งรายได้แก่ AOT อยู่ในระดับที่สูงมาก ซึ่งหากเปิดประกวดราคาใหม่ก็เชื่อว่า AOT จะไม่ได้ข้อเสนอที่ดีเช่นนี้ เพราะเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยรายได้จากคิง เพาเวอร์นั้น คิดเป็นสัดส่วน 50% ของรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการบิน (Non Aero) ของ AOT และต้องยอมรับด้วยว่ามาตรการยกเลิกพื้นที่ปลอดอากรผู้โดยสารขาเข้านั้นมีส่วนกระทบต่อรายได้ของคิง เพาเวอร์เช่นกัน เมื่อมารวมกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้อัตราการเติบโตผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาด จึงยิ่งเกิดผลกระทบมากขึ้น ซึ่งฝ่ายรัฐก็ต้องเข้าใจสถานการณ์ที่เอกชนได้รับด้วย

นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการลงทุนของ AOT ในปี 2568 ว่า AOT มีแผนเปิดประกวดราคา 2 โครงการ คือ 1.โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งจะมีการปรับวงเงินขึ้นเป็น 12,000 ล้านบาท จากเดิม 10,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับแบบเพิ่มพื้นที่มากขึ้น ซึ่งต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการปรับวงเงิน และคาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้พฤษภาคมนี้ และ 2.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเฟส 3 วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ที่จะเปิดประกวดราคาประมาณเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้ ตลอดช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา AOT ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนสัญญาสัมปทานกับ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) หลายครั้ง เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานคิง เพาเวอร์ โดยเฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางและการท่องเที่ยว

เริ่มจากเดือนสิงหาคม 2563 AOT ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ โดยการใช้จำนวนผู้โดยสารจริงในการคำนวณร่วมกับผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) ที่คิง เพาเวอร์ได้ยื่นเสนอไว้เดิมในการประมูล เพื่อช่วยลดภาระคิง เพาเวอร์ ช่วงที่จำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมาก

เดือนกรกฎาคม 2564 AOT ได้ปรับเปลี่ยนสัญญาอีกครั้ง โดยยกเลิกการรับประกันผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) และปรับลดอัตราผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำลง เพื่อช่วยเหลือคิง เพาเวอร์ ช่วงที่สถานการณ์ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ

ช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 AOT ได้ขอคืนพื้นที่เชิงพาณิชย์บางส่วนจากคิง เพาเวอร์ เพื่อใช้ในการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งส่งผลให้ AOT สูญเสียรายได้จากค่าเช่าพื้นที่และผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำประมาณ 24 ล้านบาทต่อเดือน

จากนั้นเดือนธันวาคม 2567 AOT ได้คืนเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำจำนวน 193 ล้านบาท ให้คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ หลังจากคิง เพาเวอร์ ได้คืนพื้นที่เชิงพาณิชย์บางส่วนให้กับ AOT เพื่อใช้ในโครงการขยายอาคารผู้โดยสาร

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากกรณีราคาหุ้น AOT ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงกว่า 13.76% นั้น เบื้องต้นตนได้รับทราบเรื่องแล้ว และได้มีการขอความร่วมมือให้ AOT ออกมาชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

“ในแง่ของการทำธุรกิจตนเข้าใจได้ว่าในการเจรจาบางครั้ง ไม่อาจชี้แจงรายละเอียดเชิงลึกต่อสาธารณะได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหรือมีปาร์ตี้ที่ 2 หรือ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง เพียงแต่อยากขอความร่วมมือให้ AOT ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้นักลงทุนได้รับทราบข้อมูลด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้รายย่อยได้รับผลกระทบมาก” นายอัสสเดช กล่าว

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด หรือ KTX ระบุว่า มีมุมมองเป็นลบต่อแนวโน้มรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ของ AOT ที่จะลดลงต่ำคาด เนื่องด้วยสัดส่วน 50% มาจากกลุ่มคิง เพาเวอร์ นอกจากนี้มีมุมมองลบต่อการชำระหนี้ของคิง เพาเวอร์ จากปัจจุบันที่ขอเลื่อนชำระ Minimum Guarantee ทั้งหมดสำหรับเดือนสิงหาคม 2567-กุมภาพันธ์ 2568 ออกไป 18 เดือน เบื้องต้น AOT จะยังไม่มีการตั้งสำรองลูกหนี้ เนื่องด้วยมีแบงก์การันตีที่ครอบคลุมมูลหนี้และ AOT จะเรียกเก็บค่าปรับที่ 18% ต่อปี โดยค่าปรับจะรับรู้เป็นรายได้อื่นตาม Cash basis

ส่วนด้านการปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) อยู่ระหว่างการศึกษาและคาดได้ข้อสรุปภายในกรกฎาคม 2568 ก่อนเสนอให้คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) และครม.เห็นชอบ ขณะที่จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินจะยังเติบโตดีต่อเนื่องตามคาด และแผนการลงทุน East expansion จะเกิดขึ้นในปีนี้ตามกำหนดการเดิม

ทั้งนี้ เบื้องต้น KTX อยู่ระหว่างปรับประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายลง จากรายได้ส่วนแบ่งที่ลดลง และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น จากการจ่ายชำระหนี้คิง เพาเวอร์ที่ล่าช้า และไม่มั่นใจว่าคิง เพาเวอร์จะสามารถกลับมาจ่าย Minimum Guarantee ของยอดใหม่ในเดือนมีนาคมนี้ได้หรือไม่ ขณะที่ยังมีหนี้เดิมสูง

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า จากการพิจารณาบัญชีของ AOT พบว่ามีบัญชีลูกหนี้การค้าสูงขึ้นมาก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดี เพราะแสดงว่าผู้ประกอบการหลายรายในพื้นที่ของ AOT มีปัญหากระแสเงินสดจนไม่สามารถชำระผลตอบแทนแก่ AOT ได้ตามสัญญา และมีความเสี่ยงด้วยว่าจะไม่สามารถชำระได้แล้ว ดังนั้นแม้ AOT จะมีการบันทึกรายได้ไว้ล่วงหน้าตามรอบปกติที่ต้องได้รับ แต่ก็มีแนวโน้มว่าอาจไม่สามารถเก็บเงินได้จริง

สำหรับกรณีกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ นั้น ถือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่สุดของ AOT โดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 50% ของรายได้ Non Aero ซึ่งชนะประมูลปี 2562 และทำให้ราคาหุ้นของ AOT พุ่งสูงขึ้นมาก เนื่องจากคิง เพาเวอร์ให้ข้อเสนอผลตอบแทนสูงมาก จากนั้นเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่ง AOT ได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้วยการเลื่อนชำระ Minimum Guarantee จนขณะนี้ซึ่งหมดมาตรการไปแล้วแต่คิง เพาเวอร์ยังไม่สามารถชำระได้ ประกอบกับปี 2567 รัฐบาลมีการเรียกคืนพื้นที่เชิงพาณิชย์หลายครั้ง ส่งผลกระทบต่อรายได้ของคิง เพาเวอร์ด้วย โดยบล.หยวนต้า ปรับลดเป้าหมายราคาหุ้น AOT ลงเหลือ 64 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MST ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (17 ก.พ. 68) ว่าจากกรณีที่ทาง  King Power (KPD) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานหลักของ AOT ในธุรกิจดิวตี้ฟรี กำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องและได้ขอเลื่อนการจ่ายค่า Minimum Guarantee (MAG) ออกไป 18 เดือน โดยทางฝ่ายวิจัยมองว่า AOT อาจได้รับผลกระทบทางการเงินจากมาตรการช่วยเหลือต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังไม่มีความแน่นอนว่า AOT จะสามารถรักษาระดับรายได้จากสัมปทานที่เป็นอยู่ไปตลอดอายุสัญญาหรือไม่ (สัญญาของ KPD สิ้นสุดในปีงบประมาณ 76)

ดังนั้นทางฝ่ายวิจัย จึงปรับลดคาแนะนำ AOT เป็น “ขาย” และปรับลดราคาเป้าหมายเหลือ 42.0 บาท โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ AOT อาจไม่สามารถต่อสัญญากับ KPD หลังปีงบ 76 ได้ (KPD เคยเสนอ MAG ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท ในการประมูลที่เกิดขึ้นปีงบ 62) ขณะที่ AOT ต้องเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้แก่ผู้รับสัมปทาน และเผชิญภาระการลงทุน (Capex) 1.4 แสนล้านบาทสาหรับการสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ ดาวน์ไซด์เพิ่มเติม ได้แก่ การปรับลด MAG (ในรูปแบบต่อผู้โดยสาร) และความเป็นไปได้ที่สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีจะถูกยกเลิก

ส่วนในกรณีเลวร้ายที่สุด AOT อาจต้องตั้งสำรองสาหรับหนี้ที่ยังไม่ได้รับชำระ ยกเลิกสัญญากับ KPD และเปิดประมูลหาผู้รับสัมปทานรายใหม่ การปรับลด MAG ต่อหัวผู้โดยสารอาจถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง หลังจากที่พื้นที่ดิวตี้ฟรีถูกเรียกคืนในเดือน ก.ค.-ส.ค. 67 (MAG เคยถูกปรับลดลง 20% จาก 234 บาท/คน) ทั้งนี้ ทุกๆ การปรับลด MAG ลง 20 บาท/คน จะส่งผลให้ราคาเป้าหมายของเราลดลง 1.1 บาท/หุ้น และกระทบต่อกาไรปีงบ 69 ที่ 3.7%

ทั้งนี้ AOT คาดว่าแผนแม่บท 10 ปีที่ปรับปรุงใหม่สาหรับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. 68 โดยอาคารผู้โดยสารฝั่งใต้เพียงแห่งเดียวจะต้องใช้เงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท และทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี (เทียบกับปริมาณผู้โดยสารปี 67 ที่ 60 ล้านคน) นอกจากนี้ AOT อาจต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก สำหรับการสร้างสนามบินใหม่ใน ภูเก็ตและเชียงใหม่ ภายใต้กรณีเลวร้ายที่สุด หากโครงการสนามบินทั้งหมดได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยประเมินว่า AOT อาจต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมถึง 1.7 แสนล้านบาท ในปีงบ 70-74 ซึ่งจะส่งผลให้กระแสเงินสดอิสระ (FCF) ติดลบในช่วงดังกล่าว และทาให้มูลค่าที่เหมาะสมของ AOT ลดลง 20%

อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยมองว่ามีโอกาสที่กำไรปีงบ 69-70 อาจปรับเพิ่มขึ้น 5-6% จากค่าธรรมเนียมบริการผู้โดยสาร (PSC) สาหรับผู้โดยสารต่อเครื่อง และรายได้สัมปทานที่สูงขึ้นจากผู้ให้บริการภาคพื้นและขนส่งสินค้ารายใหม่ (ดูรายงานก่อนหน้าของเรา) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกเหล่านี้ยังคงถูกเลื่อนออกไปหลายครั้ง

Back to top button