
SCGP เด้ง 3% รับอุตฯ บรรจุภัณฑ์ฟื้น ทุ่มงบ 1.3 หมื่นลบ. ดันอีบิทด้าแตะ 1.8 หมื่นล้าน
SCGP เด้ง 3% รับแนวโน้มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไตรมาส 1/68 ฟื้นตัว จากความต้องการของจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมวางงบลงทุน 1.3 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่ม EBITDA เป็น 1.8 หมื่นล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (17 ก.พ.68) ราคาหุ้น บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ณ เวลา 11:02 น. อยู่ที่ระดับ 15.70 บาท บวก 0.50 บาท หรือ เพิ่มขึ้น 3.29% สูงสุดที่ระดับ 16.20 บาท ต่ำสุด 15.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 106.88 ล้านบาท
สำหรับราคาหุ้นดีดกลับขึ้นมา ตอบรับข่าว นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCGP เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไตรมาส 1/68 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการบริโภคภายในประเทศกลุ่มอาเซียนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย และความต้องการใช้กระดาษบรรจุภัณฑ์ของจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปคาดว่าจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและการผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์ด้านมาตรการภาษีการค้าสำหรับสินค้านำเข้า (Tax Tariff) ที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก โดยราคาพลังงานและต้นทุนโลจิสติกส์คาดการณ์ว่ายังคงไม่เปลี่ยนแปลง
สำหรับปี 68 บริษัทได้วางแผนงบลงทุนรวม 13,000 ล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่ม EBITDA เป็น 18,000 ล้านบาท โดยดำเนินงานผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก เพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ได้แก่ (1) เพิ่มความสามารถในการทำกำไรในกลุ่มประเทศอาเซียน โฟกัสการขายที่ตลาดภายในประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสร้างการเติบโตในสินค้าเชื่อมโยงกับผู้บริโภค รวมถึงการเพิ่มโอกาสเข้าตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพสูงอย่าง Healthcare Supplies
(2) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน การปรับปรุงต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานผ่านเทคโนโลยี Data Analytic และ Artificial Intelligence (AI) ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและลดต้นทุนในปี 2568 ได้ประมาณ 600 ล้านบาท
(3) พัฒนานวัตกรรมและโซลูชันเพื่อสร้างความแตกต่างและตอบโจทย์ลูกค้า รวมถึงการพัฒนากระบวนการ และบริการ ยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าและสร้างความแตกต่างเพื่อเพิ่มมูลค่าและความสามารถทำกำไร โดยตั้งงบประมาณและค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ คิดเป็นร้อยละ 1 โดยประมาณของรายได้ในแต่ละปี ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้ารายได้จากกลุ่มสินค้านวัตกรรมและโซลูชัน คิดเป็นร้อยละ 37 ของรายได้รวม
และ (4) มุ่งดำเนินงานตามกรอบ ESG และหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้การรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยวางเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกเป็นร้อยละ 39 ในปี 68