
DELTA ร่วงต่อ 4% โบรกชี้ เสี่ยงกำไรหด เจอศึก AI –GMT ฉุดมูลค่า
DELTA ร่วงต่อ 4% เจอแรงกดดันหนัก! บล.ฟินันเซียหั่นเป้าเหลือ 72 บ. มองกำไรลดลง 19-30% จากภาษี GMT และศึก AI ที่รุนแรงขึ้น ขณะที่ยังเผชิญความเสี่ยงจากคดีความในสหรัฐฯ นักวิเคราะห์แนะ ‘ขาย’ รับมือ De-rate valuation"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 ก.พ.68) ราคาหุ้น บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ณ เวลา 10:24 น. อยู่ที่ระดับ 83.25 บาท ลบไป 3.25 บาท หรือ 3.76% สูงสุดที่ระดับ 87.00 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 83.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 795.36 ล้านบาท
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ให้ช่วงราคา DELTA อยู่ระหว่าง 70-90 บาท โดยมีความเสี่ยงจากกำไรที่คาดว่าจะลดลงในปีนี้ จากผลกระทบภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก Global Minimum Tax (GMT) ในอัตราขั้นต่ำ 15% ทำให้รายได้หายไปประมาณ 10%
อย่างไรก็ตาม ยังประเมินกำไรไตรมาส 1/2568 น่าจะกลับมาระดับ 4,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนหน้า Valuation ปัจจุบันมองกรอบ 70-90 บาท ระยะสั้นอาจจะโตไม่เด่น แต่ AI ยัง support ภาพระยะกลาง
ทั้งนี้ จากการประชุมนักวิเคราะห์ร่วมกับ DELTA ผู้บริหารมองแนวโน้มรายได้ปีนี้จะเติบโตประมาณ 10-15% แต่ต้องมีความพยายามมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด แนะ “ขาย” หุ้น DELTA มองการเติบโตของกำไรลดลง เผชิญภาวะแข่งขันในอุตสาหกรรม AI ที่รุนแรงขึ้น ทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทถูก De-rate valuation ปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 72 บาท เชิงลบ บริษัทปรับลดเป้าการเติบโตของ AI และ EV ลง และยังมีความเสี่ยงจากคดีที่ถูกคู่แข่งในสหรัฐฯ ฟ้องร้อง
“เราปรับลดกำไรสุทธิปี 2568-2570 ลง 19-30% เป็นการเติบโต 3.6%, 14.1%, 13.8% และปรับลด P/E ลงเป็น 45 เท่า เท่ากับค่าเฉลี่ย 5 ปี เพื่อสะท้อนการเติบโตของกำไรที่ลดลงกลับสู่ระดับปกติปีละ 10-15% และภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรม AI ที่รุนแรงขึ้น ทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ AI ถูก De-rate valuation จึงปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 72 บาท (คิดเป็น P/BV 1 เท่า) ขณะที่ประกาศจ่ายปันผลงวดปี 2567 หุ้นละ 0.46 บาท คิดเป็นผลตอบแทนเงินปันผลเพียง 0.4% แนะนำ “ขาย”
ด้านบริษัท หลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แนะนำ “ขาย” และปรับลดราคาเป้าหมายจาก 123 บาท เป็น 70 บาทเนื่องจากได้เข้าร่วมการประชุมนักวิเคราะห์ของ DELTA ประจำไตรมาส 4/2567 เมื่อวันที่ 17 ก.พ. โดยใจความสำคัญเป็นลบ บริษัทฯ คาดการณ์การเติบโตของรายได้ในระดับตัวเลข 2 หลักในปี 2568 แต่คาดว่าจะมีความท้าทายในบางธุรกิจ โดยตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ไว้ที่ 25% สูงกว่าปี 2567 เล็กน้อย ผู้บริหารมองว่าแหล่งจ่ายไฟสำหรับศูนย์ข้อมูล (data center) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ AI จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนกำไรในปี 2568 จากการเร่งลงทุนด้านเซิร์ฟเวอร์ของไฮเปอร์สเกลเลอร์ ซึ่งเป็นลูกค้าหลัก อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มองว่าการเติบโตของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะกลับสู่ภาวะปกติ โดยมีแนวโน้มการเติบโตที่ 5-15% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่เติบโต 50%
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ว่า รายได้ของบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ในไตรมาส 4/2567 อ่อนตัวลง 3% เทียบจากไตรมาสก่อน สู่ระดับ 41,700 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน) ซึ่งตํ่ากว่าประมาณการเล็กน้อย แต่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่เพียง 22.5% เทียบกับ 27.6% ในไตรมาส 3/2567 ต่ำกว่าประมาณการที่ 25.5% ซึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียวที่บันทึกในไตรมาสนี้อยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายู่ในการขายและบริหาร (SG&A) พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับ 7,000 ล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของคู่าใช้จ่ายในการขายและค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา โดยมีผลมาจากค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นให้กับ DELTA ไต้หวัน
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในไตรมาส 4/2567 ทำให้กำไรของ DELTA ในปี 2567 เติบโตเพียง 4.5% จากปีก่อน สู่ระดับ 18,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณการ 17% ส่งผลให้มีความเสี่ยงด้านลบต่อประมาณการกำไร สำหรับปี 2568 คาดอยู่ที่ 24,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 34% จากปีก่อน) โดยอยู่ระหว่างรอการอัพเดทเพิ่มเติมจากบริษัทเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ก่อนที่จะปรับปรุงประมาณการกำไร
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของ DELTA ได้รับการประเมินมูลค่าที่พรีเมียมเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่ม เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์แนวโน้มการเติบโตในอนาคต ได้แก่ AI และ data center แต่ด้วยผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าคาดการณ์ในไตรมาส 4/2567 และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับต้นทุนในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่าย SG&A และ GMT ซึ่งจะกดดันการเติบโตในปี 2568 จึงแนะนำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนใน DELTA ในระยะสั้น แม้ว่าราคาหุ้นจะลดลงมากกว่า 35% จากระดับสูงสุด และซื้อขายใกล้เคียงกับราคาเป้าหมาย ทั้งประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) และ P/E มีความเสี่ยงด้านลบ ราคาเป้าหมาย 110 บาท/หุ้น อิงจาก P/E 57 เท่า (+0.5SD) และมีประกาศจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2567 ที่ 0.46 บาท/หุ้น
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการบริษัทเดลต้า อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด (Delta International Holding Limited) (DIH) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดลต้า ได้อนุมัติการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ มูลค่า 525,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 18,300 ล้านบาท) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจปัจจุบันและรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต โดยหุ้นกู้จะครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 21 ม.ค. 2573 ซึ่งหุ้นกู้แต่ละหน่วยมีมูลค่าที่ตราไว้ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี
สำหรับหุ้นกู้เหล่านี้จะสามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นของบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA โดยราคาแปลงสภาพเริ่มต้นของหุ้นกู้จะอยู่ที่ 187.6 บาทต่อหุ้น ซึ่งสูงกว่าราคาอ้างอิง 40% ทั้งนี้เมื่อมีการใช้สิทธิแปลงสภาพ ผู้ถือหุ้นกู้จะมีสิทธิได้รับหุ้นของบมจ.เดลต้าฯ จำนวน 37,086.3539 หุ้น ต่อหุ้นกู้มูลค่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้นกู้จะมีสิทธิภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขของหุ้นกู้ ให้ DIH ไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้งหมดหรือบางส่วนที่อัตรา 106.31% ของมูลค่าที่ตราไว้ เมื่อครบกำหนดสามปีนับจากวันที่ออกหุ้นกู้