AOT รีบาวด์ 3% หลัง “กีรติ” ยันไม่แก้มินิมั่มการันตี “คิง เพาเวอร์”

AOT ดีดกลับ 3% หลัง "กีรติ" ยืนยันว่าบริษัทไม่ได้ทำการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ และยังคงดำเนินการตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 ก.พ.68) ราคาหุ้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ณ เวลา 10:22 น. อยู่ที่ระดับ 44.50 บาท บวก 1.25 บาท หรือ 2.89% สูงสุดที่ระดับ 44.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 43.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 619.05 ล้านบาท

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT ได้เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” วานนี้ (17 พ.ย.) ว่า AOT จะไม่มีการปรับแก้สัญญา หรือปรับลด Minimum Guarantee ใด ๆ กับบริษัท คิง เพาเวอร์ และเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ จากจำนวนผู้โดยสารที่เติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วงตารางบินฤดูหนาว (ปลายต.ค.-มี.ค.) นับตั้งแต่พ.ย.67 จนถึงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 22% แล้ว เมื่อผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการในสนามบินก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงเชื่อว่าปัญหาการขาดสภาพคล่องของคิง เพาเวอร์คงไม่ได้ถึงจุดที่ AOT ต้องยึดแบงก์การันตีทั้งหมด

โดยยืนยันว่าได้พิจารณาปัญหาของกลุ่มคิง เพาเวอร์ อย่างรอบคอบแล้ว พบว่าเอกชนมีปัญหาในการดำเนินธุรกิจจริงจากผลกระทบโควิด-19 โดยที่ผ่านมาคิง เพาเวอร์ ต้องชำระ Minimum Guarantee สูงถึง 30% ของยอดขาย ซึ่งเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงมากในการทำธุรกิจ ขณะเดียกันแนวทางยกเลิกสัญญาเพื่อเปิดประกวดราคาใหม่นั้นก็มิใช่ทางออกที่เหมาะสม เพราะมิได้เกิดประโยชน์กับ AOT ทั้งการเปิดประกวดราคาใหม่ที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และหากได้รายใหม่มาก็จะต้องใช้เวลาในการตกแต่งร้านค้า จัดหาสินค้าต่าง ๆ อีก ตีเป็นมูลค่าที่ AOT ต้องสูญเสียไปในช่วงเวลาดังกล่าวหลายหมื่นล้านบาท และมั่นใจว่าเมื่อเปิดประกวดราคาใหม่ AOT จะไม่ได้ข้อเสนอที่สูงขนาดนี้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าทุกครั้งที่ AOT มีมาตรการ หรือให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ก็มักจะถูกมองในแง่ลบ จึงอยากให้มองว่าผู้ประกอบการทุกราย ทั้งคิง เพาเวอร์ และรายอื่น ๆ รวมประมาณ 70 ราย ต่างก็เป็นลูกค้าที่มาเช่าพื้นที่ของ AOT ขณะที่ AOT เองก็มีสถานะคล้ายกับห้างสรรพสินค้า ที่เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องดูแลผู้เช่า เช่น กรณีการปรับลดดอกเบี้ยปรับแก่คิง เพาเวอร์ จาก 18% เหลือประมาณ 9% นั้น ก็มิใช่ว่า AOT เอื้อประโยชน์ โดยยอมรับค่าปรับลดลง เพราะธุรกิจของ AOT มิใช่การค้าดอกเบี้ย อีกทั้งตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดดอกเบี้ยปรับที่ 5% ขณะต้นทุนทางการเงินของ AOT เฉลี่ยอยู่ที่ 3-4% เท่านั้น ดังนั้นการปรับที่ 9% ก็ยังคงเป็นอัตราที่สูง และไม่กระทบต่อสถานะการเงินของ AOT

บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ BLS ระบุว่า การชำระเงินล่าช้าดังกล่าวของผู้ประกอบการในพื้นที่ของ AOT รวมประมาณ 5,000 ล้านบาทนั้น ก่อให้เกิดความกังวล 2 ประเด็น คือ ความเสี่ยงจากหนี้สูญ และรายได้จากสัมปทานที่อาจลดลงในอนาคต จึงปรับลดประมาณกำไรปี 68 AOT ลง 20% จากการตั้งสำรองหนี้สูญ และปรับลดประมาณการลง 10% จากรายได้สัมปทานที่ลดลง อัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ลดลง และกระแสเงินสดที่ลดลง ดังนั้นจึงคาดว่าผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) จะลดลงเหลือ 14-17% ในช่วงปี 68-70 จาก 16-18% ในช่วงปี 58-62 ปรับลดคำแนะนำเป็น “ขาย” หุ้น AOT โดยปรับลดราคาเป้าลงเหลือ 42 บาท จากเดิม 72 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MST ระบุในบทวิเคราะห์วานนี้ (17 ก.พ. 2568) ว่า จากกรณีที่ทาง King Power (KPD) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานหลักของ AOT ในธุรกิจดิวตี้ฟรี กำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และได้ขอเลื่อนการจ่ายค่า Minimum Guarantee (MAG) ออกไป 18 เดือน โดยทางฝ่ายวิจัยมองว่า AOT อาจได้รับผลกระทบทางการเงินจากมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังไม่มีความแน่นอนว่า AOT จะสามารถรักษาระดับรายได้จากสัมปทานที่เป็นอยู่ไปตลอดอายุสัญญาหรือไม่ (สัญญาของ KPD สิ้นสุดในปีงบประมาณ 76)

ดังนั้น ฝ่ายวิจัยจึงปรับลดคำแนะนำ AOT เป็น “ขาย” และปรับลดราคาเป้าหมายเหลือ 42 บาท โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ AOT อาจไม่สามารถต่อสัญญากับ KPD หลังปีงบ 76 ได้ (KPD เคยเสนอ MAG ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท ในการประมูลที่เกิดขึ้นปีงบ 2562) ขณะที่ AOT ต้องเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้แก่ผู้รับสัมปทาน และเผชิญภาระการลงทุน (Capex) 1.4 แสนล้านบาท สำหรับการสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ ดาวน์ไซด์เพิ่มเติม ได้แก่ การปรับลด MAG (ในรูปแบบต่อผู้โดยสาร) และความเป็นไปได้ที่สัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีจะถูกยกเลิก

Back to top button