
BCP ดีด 4% ตอบรับสวอปหุ้น BSRC หนุนโตระยะยาว-สปส.อัดเงินลงทุนต่อเนื่อง
BCP บวก 4% ตอบรับข่าวแลกหุ้น BSRC ที่ยังไม่ได้ครอบครอง 19% โบรกมองเสริมสภาพคล่อง-เติบโตระยะยาว พ่วงแจกปันผล 0.45 บาท พร้อมตอบประเด็น สปส. เข้าถือหุ้นต่อเนื่องและยังครองสัดส่วนถือหุ้นอันดับ 1
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (24 ก.พ.68) ราคาหุ้น บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ณ เวลา 15:17 น. อยู่ที่ระดับ 37.00 บาท บวก 1.25 บาท หรือ 3.50% สูงสุดที่ระดับ 37.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 35.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 740.57 ล้านบาท
บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PST ระบุผ่านบทวิเคราะห์ถึง BCP คาดการณ์ว่าราคาปรับตัวขึ้นได้แข็งแกร่ง สวนทางกับการปรับตัวลงของตลาด โดยมีปันผล 0.45 บาทต่อหุ้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการเข้าซื้อ บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) หรือ BSRC ด้วย Swap Ratio ที่ 6.5 หุ้น BSRC ต่อ 1 หุ้น BCP ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มสภาพคล่องให้กับหน่วยการกลั่นของ BSRC เป็นบวกต่อภาพการเติบโตในระยะยาว
โดยก่อนหน้านี้ BCP แจ้งผ่าน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าบริษัทเตรียมเสนอซื้อหุ้น BSRC ที่ยังไม่ได้ครอบครองอีก 19% เป็นจำนวน 631.86 ล้านหุ้น การทำธุรกรรมครั้งนี้จะใช้เงินทุนจากหุ้นใหม่ที่ออกโดย BCP โดยมีอัตราส่วนการแลกหุ้นที่ 6.5 หุ้น BSRC ต่อ 1 หุ้น BCP
สำหรับการดำเนินการนี้จะเพิ่มจำนวนหุ้นของบริษัทที่ชำระแล้วของ BCP ประมาณ 7% เป็น 1,474.13 ล้านหุ้น ราคาปัจจุบันของ BCP คิดเป็นมูลค่าหุ้น BSRC ที่ระดับ 5.61 บาทต่อหุ้น หรือเป็นอัพไซด์ 14% จากราคาหุ้น BSRC ในปัจจุบัน แต่ลดลง 43% เมื่อเทียบกับข้อเสนอซื้อหุ้นก่อนหน้าที่ BCP ได้ทำในปี 2566
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มีมุมมองเป็นกลางต่อการประกาศครั้งนี้ ในแง่ของรายได้ กรรมวิธีนี้อาจนำไปสู่การลด EPS เล็กน้อย (น้อยกว่า 3%) อย่างไรก็ตาม BSRC มีการสร้างกระแสเงินสดที่สูงมาก และข้อเสนอนี้ถือเป็นมูลค่าน่าสนใจเพียง 4.3 เท่าของ EV ต่อ FCF
นอกจากนี้ ฝ่ายวิเคราะห์ยังเชื่อว่า BCP อาจจะบันทึกกำไรจากการปรับมูลค่าใหม่เล็กน้อยหลังจากการทำธุรกรรมนี้ (เช่นเดียวกับเมื่อเข้าถือหุ้นอย่างควบคุมใน BSRC ครั้งแรก)
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มอง Positive ในระยะยาวต่อ BCP จากประเด็นการปรับโครงสร้างกิจการ เบื้องต้นคาดผลกระทบ dilution ไม่ได้มีนัยสำคัญ และเปิดโอกาส upside จากการลดค่าใช้จ่ายทางการเงินและค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนได้ในอนาคต หากราคาหุ้นปรับลงจากความกังวลด้านการลดลงของสัดส่วนการถือหุ้น หรือ control dilution มองเป็นโอกาส “ซื้อ” คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 46 บาท ส่วนฝั่ง BSRC อยู่ระหว่างปรับคำแนะนำ (เดิม “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 6.8 บาท) แนะนำผู้ถือหุ้นรายย่อยของ BSRC switch การลงทุนไปที่ BCP โดยไม่ต้องรอการ tender offer
ขณะที่ BCP จะเพิ่มทุน 97.21 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น control dilution ประมาณ 6.6% (จากหุ้นทั้งหมด 1,376.9 ล้านหุ้น เป็น 1,474.1 ล้านหุ้น) เพื่อนำไป tender offer (แลกหุ้น) BSRC ส่วนที่เหลือ 631.86 ล้านหุ้น (18.3% ของหุ้น BSRC ทั้งหมด โดย ณ วันที่ 10 ก.พ. 2568 BCP ถือหุ้นใน BSRC 81.7%) หากสำเร็จจะส่งผลให้ BCP ถือหุ้นใน BSRC 100% หลังจากนั้น BCP จะดำเนินการเพิกถอนหุ้น BSRC ออกจากตลาดฯ ทั้งนี้สัดส่วนการแลกหุ้นคิดเป็น 1 หุ้น BCP ต่อ 6.5 หุ้น BSRC หากพิจารณาราคาปิดของ BCP วันที่ 20 ก.พ. 2568 ที่ 36.5 บาทต่อหุ้น จะเสมือนมูลค่า BSRC คือ 5.6 บาทต่อหุ้น (หากอิงราคาเป้าหมาย BCP ที่ 46 บาทต่อหุ้น จะเสมือนมูลค่า BSRC 7.1 บาทต่อหุ้น)
ดังนั้น หากได้รับการอนุมัติการปรับโครงสร้าง มองฝั่งของ BCP เป็น Positive ในระยะยาว ประเมินเบื้องต้นคาดกำไรที่จะรับรู้เพิ่มจาก BSRC เพียงพอกลบ control dilution (เทียบกับการประเมินของ BCP ที่ระดับ core profit มี Core EPS dilution 1.5%) รวมทั้งอาจมี upside จากการลดต้นทุนทางการเงิน รวมถึงค่าใช้จ่ายบริหารที่ซ้ำซ้อนได้ เบื้องต้นคาดรวม 110 ล้านบาท หรือประมาณ 2% ของกำไรปกติปี 2569 รวมถึง synergy ที่เพิ่มขึ้นจากความคล่องตัวในการบริหารจัดการในอนาคต และไม่ได้กระทบสภาพคล่องของ BCP จากเป็นการใช้หุ้นเพิ่มทุนในการ tender offer ดังกล่าว
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 3/2568 มีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจากผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ BSRC ที่ถือโดยผู้ถือหุ้นรายอื่น ไม่เกินจำนวน 631,859,702 หุ้น (คิดเป็น 18.3% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ BSRC) โดยแลกกับหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบางจากฯ (Share Swap) ด้วยอัตราการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบางจากฯ ต่อ 6.50 หุ้นสามัญของ BSRC
ทั้งนี้ หากมีเศษหุ้นจากการคำนวณหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบางจากฯ จะมีการปัดเศษหุ้นนั้นทิ้ง การทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญดังกล่าวรวมคิดเป็นจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบางจากฯ ไม่เกิน 97,209,185 หุ้น โดยจะไม่มีการชำระค่าตอบแทนในรูปแบบของตัวเงิน พร้อมทั้งประกาศแผนการเพิกถอนหุ้น BSRC จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าแผนการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2568
สำหรับแผนการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทบางจาก จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจกลุ่มบริษัทบางจากให้สามารถตอบสนองต่อโอกาสทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มความแข็งแกร่งของผลประกอบการทางการเงิน อันทำให้โครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มบริษัทบางจากมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ลดความซับซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้น และเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน ลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน
นอกจากนี้ การทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้น BSRC ด้วยวิธีการแลกกับหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบางจากฯ เป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ถือหุ้น BSRC ได้ถือหุ้นบางจากฯ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน ทั้งด้านผลประกอบการที่เติบโตอย่างมั่นคง มี EBITDA ระดับ 40,000 ล้านบาทต่อเนื่อง และฐานะทางการเงินที่แข็งแรง โดยมีขนาดของสินทรัพย์ระดับกว่า 300,000 ล้านบาท
ประกอบกับ มีศักยภาพในการเติบโตจากธุรกิจหลักที่มีความหลากหลาย ภายใต้แนวคิด Bangchak 100X เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย EBITDA 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2573 และการเติบโตเป็นองค์กรที่ยั่งยืน 100 ปีคู่สังคมไทย โดยผู้ถือหุ้น BSRC ยังคงมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ BSRC ในทางอ้อมผ่านการถือหุ้นในบางจากฯ พร้อมทั้งมีสภาพคล่องในการลงทุนที่สูงขึ้นจากมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ที่ใหญ่ขึ้น
โดยธุรกรรมการปรับโครงสร้างผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดและเพิกถอนหุ้น BSRC ดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงการได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ของบางจากฯ ในวันที่ 11 เมษายน 2568 และการได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ของ BSRC ในวันที่ 9 เมษายน 2568
นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานปี 2567 กลุ่มบริษัทบางจากยังคงสร้างสถิติใหม่ของรายได้จากการขายและการให้บริการ 589,877 ล้านบาท เติบโต 53% จากปีก่อน มี EBITDA 40,409 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,184 ล้านบาท ลดลง 83% เมื่อเทียบกับปีก่อน ผ่านการขับเคลื่อนของ 5 กลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการตลาด ที่มีปริมาณการจำหน่ายน้ำมัน 13,814 ล้านลิตร เติบโตกว่า 61% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับการรู้ Synergy สูงถึง 6,071 ล้านบาท มากกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 2,500 ล้านบาท หลังจากการควบรวมกิจการและรับรู้รายได้เต็มปีของ BSRC
ขณะเดียวกัน โครงสร้างธุรกิจที่หลากหลายยังทำให้บริษัทสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันและเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ผันผวนได้ มีโครงสร้างการเงินที่แข็งแกร่ง ยืนยันด้วยการปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของบางจากฯ โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เป็น A+ ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดตั้งแต่บริษัทได้รับการจัดอันดับ
นอกจากนี้ บางจากฯ ยังได้รับการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) ในระดับสูงสุดของโลกด้านความยั่งยืน Top 1% ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refinery and Marketing ใน S&P Sustainability Yearbook 2025 โดย S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) ผู้จัดทำการประเมินความยั่งยืนดัชนี DJSI ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 อนุมัติให้นำเสนอจ่ายเงินปันผลสำหรับงวดครึ่งปีหลังของปี 2567 ในอัตรา 0.45 บาทต่อหุ้น เมื่อรวมกับเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีแรกของปี 2567 ในอัตรา 0.60 บาทต่อหุ้น จะรวมเป็นเงินปันผลที่จ่ายในปี 2567 ในอัตรา 1.05 บาทต่อหุ้น โดยวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลเป็นวันที่ 14 มีนาคม 2568 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 เมษายน 2568
สำหรับปี 2568 กลุ่มบริษัทบางจากเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการขยาย Synergy อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างรอบคอบและระมัดระวัง กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันพร้อมผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ในไตรมาส 2 ปีนี้ ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนกลุ่มธุรกิจการตลาดตั้งเป้าขยายสถานีบริการกว่า 100 แห่ง โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 2 อย่างมั่นคง ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพเตรียมเปิดโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพ (CDMO) แห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนธุรกิจผลิตไฟฟ้าพร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสีเขียว ผ่านการลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังงานสะอาดในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยในปีนี้จะมีโครงการโรงไฟฟ้าเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม 9 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในลาว 290 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไต้หวัน ซึ่งจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ รวมถึงการขยายการลงทุนในกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ โดยนำประสบการณ์ด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากนอร์เวย์มาต่อยอดขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และตั้งเป้านำน้ำมันดิบที่ผลิตได้มาใช้ในโรงกลั่นทั้งสองแห่ง ช่วยสร้างความแข็งแกร่งและ Synergy ให้กับกลุ่มบริษัทบางจาก และเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานให้ประเทศยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ปรับกลยุทธ์การลงทุนโดย เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือครองหุ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2566-2567 ซึ่งสะท้อนถึงกลยุทธ์การบริหารพอร์ตการลงทุนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ BCP ซึ่งมีการรายงานผ่านแบบ 246-2 ของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีรายละเอียดดังนี้ เดือน กรกฎาคม 2566 สปส.เริ่มเข้าซื้อหุ้น BCP จำนวน 901,900 หุ้น เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ส่งผลให้สัดส่วนการถือครองเพิ่มขึ้นเป็น 15.005% ก่อนจะขายหุ้นออกมาในวันที่ 7 กรกฎาคม จำนวน 258,400 หุ้น ทำให้สัดส่วนลดลงเหลือ 14.9862% ต่อมาในวันที่ 10 กรกฎาคม สปส. กลับมาเข้าซื้อเพิ่มอีก 1,472,000 หุ้น ทำให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 15.093% แต่ในวันที่ 21 กรกฎาคม มีการขายหุ้นออกจำนวน 1,075,000 หุ้น ทำให้สัดส่วนการถือครองลดลงเหลือ 14.9711%
เดือน สิงหาคม 2566 สปส. เข้าซื้อหุ้น BCP เพิ่มเติมในวันที่ 2 สิงหาคม จำนวน 539,000 หุ้น ทำให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 15.0103% อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 สิงหาคม มีการขายหุ้นออกจำนวน 2,888,000 หุ้น ส่งผลให้สัดส่วนลดลงเหลือ 14.8285%
เดือน มีนาคม 2567 จากนั้นในวันที่ 14 มีนาคม สปส. กลับมาเข้าซื้อหุ้น BCP อีกจำนวน 471,400 หุ้น ส่งผลให้สัดส่วนถือครองเพิ่มขึ้นเป็น 15.002% แต่ต่อมาในวันที่ 18 มีนาคม ได้มีการขายหุ้นออกจำนวน 1,524,100 หุ้น ทำให้สัดส่วนลดลงเหลือ 14.8913%
ขณะที่ กรกฎาคม 2567 เดือนก่อนที่ในวันที่ 2 กรกฎาคม สปส. ได้เพิ่มการถือครองหุ้น BCP อีกจำนวน 1,950,000 หุ้น ส่งผลให้สัดส่วนการถือครองเพิ่มขึ้นเป็น 15.0493% ทำให้ สปส.ยังมีสัดส่วนการถือหุ้นเป็นอันดับ 1 ของ BCP
นอกจากนี้ CAPITAL ASIA INVESTMENTS ผู้ถือหุ้นรายใหม่ของ BCP นอกจากการเปลี่ยนแปลงในพอร์ตของ สปส. แล้ว ยังมีการเข้ามาของนักลงทุนรายใหม่อย่าง CAPITAL ASIA INVESTMENTS PTE LTD บริษัทจัดการกองทุนสัญชาติสิงคโปร์ที่มุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะในธุรกิจพลังงานและปิโตรเลียม ได้เริ่มเข้าถือหุ้น BCP เป็นครั้งแรกในวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ในสัดส่วน 5.9394% และ ต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ได้เพิ่มสัดส่วนการถือครองเป็น 10%
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ยังมีคำถามและกระแสข่าวเกี่ยวกับการเข้ามาของทุนฝ่ายการเมืองผ่านการเข้ามาถือหุ้น ซึ่งแม้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ก็เป็นประเด็นที่นักลงทุนจับตา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงจะส่งผลต่อโครงสร้างการถือหุ้นเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลต่อทิศทางและนโยบายของบริษัทในอนาคต ในยุคที่ BCP เป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของพลังงานของไทย โดยภาพรวมข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 5 กันยายน 2567 (ประเภท XD) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก้าวขึ้นเป็น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ BCP สัดส่วน 14.18% ตามโครงสร้างผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรก