BANPU ตั้งงบ 5 ปีราว 554 ล้านเหรียญฯ เล็งเข้าซื้อกิจการเพิ่ม

BANPU ตั้งงบลงทุนภายใน 5 ปี (59-63) ราว 554 ล้านเหรียญฯ เผยอยู่ระหว่างพิจารณาเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมทั้งในไทย-ตปท. อาทิ ญี่ปุ่น-จีน มุ่งเน้นพัฒนาพลังงานทดแทน


นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุน 5 ปี (ปี 59-63) ประมาณ 554 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผสาน 5 แนวทางหลัก ได้แก่ ความยืดหยุ่นพร้อมรับมือปัจจัยทางเศรษฐกิจภายนอกที่ผันผวน ควบคู่กับการบริหารต้นทุนที่รัดกุม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และต่อยอดการเติบโตของสินทรัพย์ พร้อมทั้งมองหาโอกาสการเข้าซื้อกิจการถ่านหินเพิ่มเติมเพื่อเตรียมคว้าโอกาสเมื่อตลาดถ่านหินฟื้นตัว

ขณะที่การเสนอขายหุ้นของบริษัทย่อย บริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) นั้น จะดำเนินการในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากปัจจัยเกื้อหนุนของตลาดทุน ขณะที่ในอีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย ลาว และจีน จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ประมาณ 7%

ขณะเดียวกันตลาดการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นมีการเติบโตรวดเร็วที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีสูงกว่า 25% ดังนั้นบริษัทซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านความชำนาญในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จึงมีโอกาสอีกมากที่จะขยายธุรกิจไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วเอเชีย
โดยตามแผนตามแผนขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในหลายภูมิภาค คาดว่าภายในสิ้นปี 63 บ้านปูเพาเวอร์ จะสามารถขยายกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนเป็น 2,394 เมกะวัตต์ (MW) โดยโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง ในประเทศจีน กำลังผลิตติดตั้งรวม 1,320 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการและคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายปี 60

ขณะที่อีก 7 โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น รวมกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุน 54 เมกะวัตต์ จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 59-61 ทั้งนี้ ภายในปี 68 คาดว่าบริษัทจะมีศักยภาพที่จะเพิ่มการลงทุนให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนที่ประมาณ 4,300 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 20%

สำหรับธุรกิจถ่านหิน บริษัทยังคงเดินหน้ามาตรการควบคุมต้นทุนการผลิตและลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน พร้อมพัฒนาสินค้าคุณภาพสูงสำหรับตลาดพรีเมี่ยม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน โดยในปี 59 บริษัทตั้งเป้าปริมาณการขายถ่านหินจากทั้งอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และจีน รวมที่ 44 ล้านตัน อีกทั้งยังมองจังหวะที่จะเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมเพื่อเตรียมคว้าโอกาสเมื่อตลาดถ่านหินฟื้นตัว

ทั้งนี้บริษัทมีนโยบายการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุล โดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาสังคม และมิติทางธุรกิจ ทั้งนี้ โครงการจำนวนมากที่ลงทุนไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและอยู่ระหว่างการพัฒนารวมถึงโครงการที่บริษัทกำลังพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมทั้งในไทยและในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น และจีน มุ่งเน้นที่พลังงานทดแทน ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามข้อตกลงจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP21) และยุทธศาสตร์ด้านพลังงานและการกระจายเชื้อเพลิงของประเทศต่างๆ

Back to top button