
ITD ร่วงเฉียดฟลอร์! “อัยการ” ชี้กฎหมายเขียนชัด “ตึก สตง.” ถล่ม ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบ
ITD ร่วง 27% เฉียดฟลอร์ หลังอัยการชี้กฎหมายชัด “ตึก สตง.” ถล่ม ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบ กระทบความเชื่อมั่นในบริษัท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (31 มี.ค. 68) ราคาหุ้น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ณ เวลา 10:02 น. อยู่ที่ระดับ 0.19 บาท ลบ 26.92% หรือ 26.92% สูงสุดที่ระดับ 0.20 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 0.19 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3.26 ล้านบาท
สำหรับราคาหุ้นของ ITD ปรับตัวลงแรงเฉียดฟลอร์ มีความกังวลหลังจากกรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ด้วยวงเงินตามสัญญา 2,136 ล้านบาท ได้สร้างข้อกังวลและคำถามเกี่ยวกับความรับผิดทางกฎหมายของผู้รับจ้างในโครงการก่อสร้างภาครัฐ
ล่าสุด ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์พิเศษด้านกฎหมาย ได้ให้ความเห็นเชิงวิชาการผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หากการถล่มของอาคารเกิดขึ้นก่อนการส่งมอบงาน และไม่เกิดจากความผิดของผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบโดยการก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่โดยไม่สามารถเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มเติมจากหน่วยงานรัฐได้ ทั้งนี้ แม้การถล่มจะมีสาเหตุมาจากเหตุสุดวิสัย เช่น แผ่นดินไหว แต่หากยังไม่มีการส่งมอบงานตามสัญญา ก็ยังอยู่ในความรับผิดของผู้รับจ้างอย่างเคร่งครัด
ขณะที่ในส่วนของความเสียหายต่อแรงงานและบุคคลภายนอก ดร.ธนกฤตระบุว่า สัญญาจ้างก่อสร้างภาครัฐกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องทำประกันภัยครอบคลุมลูกจ้างทุกคน และต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย อุบัติเหตุ หรือภยันตรายที่เกิดจากการดำเนินงาน รวมถึงการกระทำของลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้รับจ้างอย่างชัดเจน ดังนั้น แรงงานที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยาตามกรมธรรม์ประกันภัยและสิทธิทางกฎหมาย ขณะที่บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้รับจ้างเช่นเดียวกัน
โดยการวิเคราะห์ทางกฎหมายดังกล่าวตอกย้ำหลักเกณฑ์ความรับผิดชอบในสัญญาจ้างก่อสร้างของภาครัฐตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดรูปแบบสัญญาไว้อย่างชัดเจน และเป็นแนวทางสำคัญที่ผู้ประกอบการก่อสร้างควรตระหนักถึง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อาจเกิดเหตุสุดวิสัยที่ไม่คาดคิด
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบงบการเงินล่าสุดของทาง ITD พบว่า ณ สิ้นปี 2567 บริษัทขาดทุนสุทธิ 5.77 พันล้านบาท โดยในปี 2567 บริษัทฯ มีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 2,221 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 2,104 ล้านบาท ส่วนใหญ่เนื่องจากความล่าช้าในการชำระเงินของลูกค้าบางรายในกลุ่มงานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
นอกจากนี้ บริษัทฯ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 196 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวน 93 ล้านบาท เนื่องจากการขาดทุนจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทในสินทรัพย์ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศของบริษัท