
ADVANC-TRUE วิ่ง! รับ กสทช. เปิดเฮียริ่งหั่นราคาคลื่นสูงสุด 50%
ADVANC-TRUE กอดคอวิ่ง! รับ กสทช.เปิดเฮียริ่งประมูลคลื่นรอบใหม่วันนี้ จับตาเคาะราคาประมูลต่ำกว่าเดิมทุกคลื่นความถี่ ทุกโมเดลลดสูงสุด 50% หลังเอกชนท้วงราคาแพง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(1 เม.ย.68) ราคาหุ้นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ณ เวลา 10.10 น. ราคาอยู่ที่ 279.00 บาท บวก 4.00 บาท หรือ 1.45% ราคาสูงสุด 279.00 บาท ราคาต่ำสุด 276.00 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ณ เวลา 10.13 น. ราคาอยู่ที่ 12.00 บาท บวก 0.30 บาท หรือ 2.56% ราคาสูงสุด 279.00 บาท ราคาต่ำสุด 276.00 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 158.96 ล้านบาท
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันที่ 1 เม.ย. 2568 จะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz 1500 MHZ 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ที่ให้มีการรับฟังความเห็นใน 7 วัน หลังจากที่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกไปแล้วเมื่อ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวจะมีการปรับเปลี่ยนราคาตั้งต้นในการประมูลของบางคลื่นความถี่ใหม่ หลังจากที่ผ่านมาทางเอกชนมีความเห็นว่าราคาประมูลแพงเกินไปเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงคณะกรรมการบางรายเห็นว่าเป็นราคาที่ถูกเกินไป ราคาตั้งต้นในแต่ละคลื่นไม่ควรต่ำกว่าการประมูลในครั้งที่ผ่านมา
สำหรับราคาประมูลแนวทางเดิม ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz อยู่ที่ 7,739.04 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน 1500 MHz อยู่ที่ 1,057.49 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz อยู่ที่ 7,282.15 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz (FDD) ที่ 3,970.32 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz (TDD) อยู่ที่ 580.99 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz อยู่ที่ 1,961.08 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ประเมินไว้เพียง 423 ล้านบาท
ขณะที่ ราคาใหม่ สำนักงาน กสทช. เสนอปรับลดราคาประมูลลง ได้แก่ 1.คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ราคาเดิมอยู่ที่ 7,739.04 ล้านบาท ปรับลดราคามาอยู่ที่ 7,358.60 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 380.44 ล้านบาท คิดเป็นส่วนลด 4.92% 2.คลื่นความถี่ย่าน 1500 MHz ราคาเดิมอยู่ที่ 1,057.49 ล้านบาท ราคาใหม่อยู่ที่ 969.03 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 88.46 ล้านบาท คิดเป็นส่วนลด 8.37%
3.คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ราคาเดิมอยู่ที่ 7,282.15 ล้านบาท เสนอราคาใหม่ 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 อยู่ที่ 4,793.19 ล้านบาท ลดลง 2,488.96 ล้านบาท คิดเป็นส่วนลด 34.18% ส่วนแนวทางที่ 2 อยู่ที่ 3,617.37 ล้านบาท ลดลง 3,664.78 ล้านบาท คิดเป็นส่วนลด 50.33% และแนวทางที่ 3 อยู่ที่ 12,418.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,135.91 ล้านบาท คิดเป็นส่วนลด 50.33%
4.คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz (FDD) ราคาเดิมอยู่ที่ 3,970.32 ล้านบาท เสนอราคาใหม่ 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 อยู่ที่ 3,322.82 ล้านบาท ลดลง 647.50 ล้านบาท คิดเป็นส่วนลด 16.31% แนวทางที่ 2 อยู่ที่ 3,180.67 ล้านบาท ลดลง 789.65 ล้านบาท คิดเป็นส่วนลด 19.89% และแนวทางที่ 3 อยู่ที่ 4,611.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 641.1 ล้านบาท คิดเป็นส่วนลด 16.15%
5.คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz (TDD) ราคาเดิมอยู่ที่ 580.99 ล้านบาท ราคาใหม่อยู่ที่ 449.04 ล้านบาท ลดลง 131.95 ล้านบาท คิดเป็นส่วนลด 22.71%
6.คลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz ราคาเดิมอยู่ที่ 1,961.08 ล้านบาท เสนอราคาใหม่มา 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 อยู่ที่ 1,871.16 ล้านบาท ลดลง 89.92 ล้านบาท คิดเป็นส่วนลด 4.59% แนวทางที่ 2 และ 3 อยู่ที่ 1,541.33 ล้านบาท ลดลง 419.75 ล้านบาท คิดเป็นส่วนลด 21.40% และ 7.คลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ยังคงราคาเดิมที่ 423 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนความถี่ 3500 MHz หากจะนำมาประมูลในครั้งนี้ มีจำนวน 100 MHz คาดว่ามีราคาไม่ต่ำกว่าชุดความถี่ละ 5,000 ล้านบาท ส่วนคลื่นที่อาจจะแบ่งกลุ่มใหม่ แยกเป็นคลื่นความถี่โทรคมนาคมของบริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ NT จำนวน 3 คลื่น ได้แก่ คลื่น 850 MHz จำนวน 2×15 MHz, คลื่น 2100 MHz จำนวน 2×15 MHz และคลื่น 2300 MHz จำนวน 60 MHz ต้องสิ้นสุดการอนุญาตใช้งานวันที่ 3 ส.ค.นี้
ขณะเดียวกัน คลื่นที่ยังไม่มีการใช้งานได้แก่คลื่น 1500 MHz คลื่น 26 GHz รวมถึงหลังจบการเปิดรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 2 แล้ว จะมีการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.ต่อไป ซึ่งอาจต้องขยับวันจัดประมูลออกไปจากกรอบเวลาเดิมที่กำหนดคือวันที่ 17-18 พ.ค. 2568 เป็นช่วงปลายเดือน พ.ค.ถึงต้นเดือน มิ.ย. 2568
ก่อนหน้านี้ นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC กล่าวว่า ราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่นความถี่ควรจะต้องสมเหตุสมผล ไม่ใช่อ้างอิงราคาจากต่างประเทศและนำราคาประมูลเก่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาใช้ ส่วนตัวมองว่าเป้าหมายกสทช.คือต้องทำอย่างไรให้ผู้บริโภคใช้ระบบ 4G และระบบ 5G ให้มากขึ้น ปัจจุบันผู้บริโภคยังใช้ระบบ 2G และ 3G เหมือนเดิม ถ้าเอกชนลงทุนเครือข่ายไป กสทช.ก็ควรจะแบกรับภาระต้นทุนค่าเครื่องเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ระบบ 4G และ 5G เพื่อจะได้ใช้ดิจิทัลวอลเล็ต และเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร หัวหน้าสายงานรัฐกิจสัมพันธ์และกำกับดูแล ตัวแทนจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับ “ราคาขั้นต่ำ” ที่กสทช.เสนอมา (ราคาเดิม) เช่น คลื่น 1800 MHz ที่ในอดีตจัดสรรไม่สำเร็จ และมีราคาสูงกว่า Benchmark รวมถึงงวดการชำระเงิน (payment term) แต่ละงวดสูงเกินไป โดยปีแรกจ่าย 50% ของราคาประมูล ปีที่ 2 และ 3 ชำระ 25% ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่ตกต่ำ อยากให้แบ่งชำระเป็น 10 งวด งวดละ 10%