ดอลล์อ่อนค่าเหตุนักลงทุนวิตกราคาน้ำมันร่วง
สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 ก.พ.) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ปลอดภัย รวมถึงสกุลเงินฟรังค์สวิสและสกุลเงินเยน
สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ดอลลาร์สหรัฐ (19 ก.พ.) อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเยนที่ระดับ 112.51 เยน จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 113.57 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9895 ฟรังค์ จากระดับ 0.9953 ฟรังค์ ด้านยูโรแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.1132 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.1092 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นที่ระดับ 1.4352 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.4321 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7143 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7154 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับตัวลงของราคาน้ำมันได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ปลอดภัย รวมถึงเงินเยนและฟรังค์สวิส ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลงไปกว่า 3% และราคาน้ำมัน WTI ดิ่งลงไปกว่า 3% สู่ระดับต่ำกว่า 30 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อคืนนี้ อันเนื่องมาจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ที่ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อภาวะการซื้อขายในตลาดนั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทรงตัวในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน เนื่องจากการดีดตัวขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านการเคหะ และเวชภัณฑ์ ได้ถูกชดเชยโดยราคาน้ำมันที่ร่วงลง เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 1.4% ในเดือนม.ค. อย่างไรก็ตาม หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 4 ปีครึ่ง หรือตั้งแต่เดือนส.ค.2011 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนธ.ค.
ส่วนข้อมูลทางฝั่งยุโรปนั้น คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในยูโรโซนร่วงลงต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยปรับตัวลงสู่ระดับ -8.8 ในเดือนก.พ.จากระดับ -6.3 ในเดือนม.ค. เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ -6.6 ถึงแม้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดลงมากกว่าที่คาดไว้ แต่ระดับดังกล่าวยังคงอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังคงค่อนข้างมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มในอนาคต อย่างไรก็ตาม ความอ่อนแอของความเชื่อมั่นดังกล่าวได้สร้างความเสี่ยงต่อการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะทำการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมในการประชุมวันที่ 10 มี.ค.