WHA-AMATA ร่วงต่อ! ผวายอดขายที่ดินวูบ หลังสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 37%

WHA-AMATA ราคาหุ้นร่วงต่อ! เหตุสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย 37% ฉุดยอดขายที่ดินหด หลังคาดดีมานด์ซื้อที่ดินนิคมฯ ในไทยลด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 เม.ย.68) ราคาหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมปรับตัวลงต่อในช่วงเวลา 10:23 น. นำโดย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 16.40 บาท ลบ 1.60 บาท หรือ 8.89% สูงสุดที่ระดับ 17.30 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 16.20 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 232.24 ล้านบาท

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 2.98 บาท ลบ 0.12 บาท หรือ 3.87% สูงสุดที่ระดับ 3.04 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.94 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 270.38 ล้านบาท

ทั้งนี้ ราคาหุ้น AMATA-WHA ปรับตัวลงต่อเนื่อง โดยหลังมีการคาดการณ์รับผลกระทบมากที่สุด จากนโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ทางการค้า ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเพิ่มเป็น 37% และเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศเวียดนาม 46% จะกระทบความต้องการซื้อที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในไทย และเวียดนามที่จะลดลง

ด้านนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า กรณีสหรัฐอเมริกาประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย 37% ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มสูงที่สุด น่าจะส่งผลกระทบกับกลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมด้วย ส่งผลให้วานนี้ (3 เมษายน 2568) มีแรงขายเข้ามาในหุ้น WHA ทำให้ราคาปิดตลาดปรับตัวลงแรง 10.40%

ทั้งนี้ การที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยดังกล่าว เป็นหนึ่งในปัจจัยลบที่ทีมบริหารได้เฝ้ารอติดตามต่อเนื่อง ตั้งแต่การปรับขึ้นภาษีรอบแรก และมองว่าบริหารจัดการได้ ดังนั้น หากประเมินการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาโดยรวมทั้ง 2 รอบ ประเทศไทยยังถือเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มได้รับผลกระทบ แต่ถูกปรับขึ้นภาษีน้อยที่สุด หากเทียบกับประเทศจีน ที่มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้า 2 รอบ รวมเฉลี่ยเกิน 50% และประเทศเวียดนาม ที่มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้า 2 รอบ รวมเฉลี่ยเกิน 40% ซึ่งมองในแง่การเชื่อมโยงธุรกิจนิคมฯ มองว่าประเทศไทยยังดี และน่าจะยังได้รับผลบวกจากการย้ายฐานการผลิต นอกจากนี้ WHA ยังรอผลการประเมินจากทีมงานที่ส่งเข้าไปอัพเดทข้อมูลต่าง ๆ กับกลุ่มลูกค้าว่าจะมีผลกระทบในแง่ใดบ้าง ทั้งในเชิงบวก และเชิงลบ

นางสาวจรีพร กล่าวต่อว่า แนวโน้มภาพรวมผลการดำเนินงานของกลุ่ม WHA ยังคงประเมินไว้ที่กรอบเดิมทุกด้าน แม้ว่านักวิเคราะห์จะมีมุมมองเชิงลบต่อกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ที่จะได้รับผลลบต่อยอดขายที่ดิน แต่กลุ่ม WHA ค่อนข้างมั่นใจว่าจะมียอดขายที่ดินเป็นไปตามเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ 2,500 ไร่ เนื่องจากปี 2567 มียอดขายที่ดินค่อนข้างสูง และเป็นที่ดินรอโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2568 ค่อนข้างมาก รวมถึงยอดขายที่ดินใหม่ระหว่างปี 2568 ด้วย นอกจากนี้ ในไตรมาส 2/2568 จะมีปิดดีลซื้อขายที่ดินกับลูกค้ารายใหญ่ขนาดหลายร้อยไร่ด้วย

ส่วนทิศทางผลการดำเนินงานในปี 2568 กลุ่ม WHA ยังคงคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้และส่วนแบ่งกำไรกว่า 20,000 ล้านบาท จากปี 2567 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรของกลุ่มบริษัท 14,400 ล้านบาท และคงอัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) มากกว่า 45% เป็นไปตาม 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจโลจิสติกส์ 2. ธุรกิจโมบิลิตี้ 3. ธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม 4. ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน และ 5. ธุรกิจดิจิทัล ที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ทางการค้า ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยเป็น 37% นั้น กระทบกับยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเป็นผลต่อจิตวิทยาเชิงลบในระยะสั้น นักลงทุนอาจจะมีการชะลอพิจารณาแผนการย้ายฐานการผลิตใหม่ เพราะในแต่ละประเทศมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษานำเข้าดังกล่าวนั้น ทุกประเทศก็โดนกันทั้งหมด

สำหรับการย้ายฐานการผลิตนั้น จะต้องดูในเรื่องของต้นทุน แรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน และศักยภาพในการส่งออก ซึ่งหากเทียบระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน จะพบว่าต้นทุนภาษีไทยถูกกว่าประเทศจีนมาก โดยประเทศจีนเพิ่งจะโดนภาษีก้อนใหม่เข้าไป 34% จากเดิมที่ 20% รวมกันมากกว่า 50% แล้ว ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังคงมีความน่าสนใจอยู่

ด้านนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากประเทศไทยที่ 37% ประเมินว่าจะกระทบต่อความต้องการที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในไทย แม้ว่าสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากไทยน้อยกว่าเวียดนามที่ถูกเรียกเก็บ 46% แต่อาจเป็นปัจจัยทำให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน เนื่องจากภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องติดตามรัฐบาลไทยจะมีแนวทางอย่างไร อาจมีการหาสิทธิประโยชน์ทางภาษีการค้าอื่น ๆ เพื่อชดเชยผลกระทบดังกล่าว

โดยหุ้นนิคมฯ ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ WHA และ AMATA โดยเฉพาะ AMATA อาจได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะเพิ่งเข้าไปขยายการลงทุนพัฒนานิคมฯ ใน สปป.ลาว ที่เตรียมเปิดขายช่วงปลายปี 2568 โดย สปป.ลาว เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีในอัตรา 48% ซึ่งสูงกว่าประเทศไทย

ขณะที่ประเทศเวียดนาม สัดส่วนรายได้ของทั้ง WHA และ AMATA ในเวียดนามไม่ได้มาก เนื่องจากรายได้หลักมาจากการขายที่ดินนิคมในประเทศไทย โดย Demand นิคมในไทยส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม Data Center ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาหุ้นกลุ่มนิคมฯ จะตอบรับเชิงลบกับประเด็นนี้ จึงแนะนำ “เลี่ยงการลงทุน” ไปก่อน เพื่อติดตามความชัดเจนอีกครั้ง โดยเชื่อว่าหลายประเทศจะขอเจรจากับสหรัฐฯ ก่อนถึงกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายนนี้

Back to top button