GULF ปิดพุ่ง 6% ”สารัชถ์” ควัก 1.6 พันล้าน ช้อนหุ้นปลุกเชื่อมั่น!

GULF ปิดพุ่ง 6% หลัง ‘สารัชถ์’ ควัก 1.6 พันล้าน เก็บกัลฟ์ในกระดาน 35.5 ล้านหุ้น สร้างความเชื่อมั่นต่อศักยภาพการเติบโตและอนาคตกัลฟ์ หลังควบรวมกิจการพร้อมเดินหน้าโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 เริ่มก่อสร้างคลัง LNG ภายในกลางปีนี้ รองรับนำเข้า 7.8 ล้านตันต่อปี ป้อนโรงไฟฟ้ากัลฟ์ พีดี โรงไฟฟ้า กัลฟ์ เอสอาร์ซี และหินกอง


ผู้สื่อข่าวรายวานว่า วันนี้(9 เม.ย.2568) ราคาหุ้นบริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 42.25 บาท บวก 2.25 บาท หรือ 5.63% ราคาสูงสุด 43.25 บาท ราคาต่ำสุด 39.75 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 3.80 พันล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (8 เม.ย. 2568) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยข้อมูลการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหารบริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF โดยพบว่าผู้บริหารระดับสูงคือนายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และนายโอฬาร ศรีวรัฎฐา ได้เข้าทำรายการซื้อหุ้นบริษัทรวมหลายรายการช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

จากข้อมูลแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (แบบ 59) พบรายละเอียดที่น่าสนใจ เริ่มจากวันที่ 3 เม.ย. 2568 นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ซื้อหุ้นสามัญจำนวน 510,700 หุ้น ราคาหุ้นละ 48.75 บาท มูลค่ารวม 24,896,625 บาท วันที่ 4 เม.ย. 2568 นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ได้ทำรายการซื้อเพิ่มเติมอีก 35,000,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 46.49 บาท มูลค่ารวม 1,627,150,000 บาท ในวันเดียวกัน นายโอฬาร ศรีวรัฎฐา เข้าซื้อหุ้นจำนวน 1,364 หุ้น ราคาหุ้นละ 48 บาท มูลค่ารวม 65,472 บาท

สำหรับการซื้อหุ้นดังกล่าว แสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้บริหารที่มีต่อศักยภาพการเติบโตและอนาคตบริษัท GULF อาจสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์ตามไปด้วย

ขณะที่วานนี้ 8 เมษายน 2568 ราคาหุ้น GULF ปรับตัวลดลงอย่างหนัก 11% มาปิดที่ 40 บาท มูลค่าการซื้อขาย 4,503 ล้านบาท โดยราคาสูงสุดระหว่างวันอยู่ที่ 41.75 บาท ราคาต่ำสุด 38.50 บาท

ด้านนางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน GULF เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทได้รับจดหมายยืนยันจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สำหรับการรับงานถมทะเลในการพัฒนาโครงการระยะที่ 1 (Infrastructure) และอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างในส่วนของโครงการในระยะที่ 2 (Superstructure) ได้แก่ ท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) ซึ่งมีแผนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างกลางปีนี้

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้จัดทำแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ให้มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยมีโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง ครอบคลุมพื้นที่ 1,000 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของแผน

โดยบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด (GMTP) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมที่ GULF ถือหุ้นร่วมกับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในสัดส่วน 70% และ 30% ตามลำดับ ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) กับกนอ. เป็นระยะเวลา 35 ปี เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3

ขณะที่งานแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 : งานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ได้แก่ งานขุดลอกและถมทะเลในพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ การก่อสร้างแนวกันคลื่น การก่อสร้างท่าเรือบริการ การก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และระยะที่ 2 : งานออกแบบ ก่อสร้าง และประกอบกิจการท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (Superstructure) บนพื้นที่ถมทะเลประมาณ 200 ไร่ เพื่อรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตันต่อปี (สำหรับท่าเรือก๊าซส่วนแรก) และส่วนขยายไปจนถึง 10.8 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่การก่อสร้างท่าเทียบเรือก๊าซและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) แล้วเสร็จ ท่าเทียบเรือดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการรองรับการนำเข้าก๊าซ LNG เพื่อสนับสนุนธุรกิจก๊าซฯ ของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper License) สำหรับนำเข้าก๊าซ LNG ในปริมาณรวม 7.8 ล้านตันต่อปี เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้า กัลฟ์ พีดี, โรงไฟฟ้า กัลฟ์ เอสอาร์ซี และโรงไฟฟ้าหินกอง

นอกจากนี้ท่าเทียบเรือดังกล่าวจะถือเป็นสถานีแห่งที่ 3 ของประเทศไทย และจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการนำเข้าก๊าซ LNG เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตไฟฟ้า ตามการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ

Back to top button