TPCH เซ็น MOU พันธมิตรในกัมพูชาศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล 90 MW
TPCH เซ็น MOU พันธมิตรในกัมพูชาศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล 90 MW
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการขยายการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศกัมพูชาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวนั้น ล่าสุดบริษัทได้เซ็น MOU กับพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศกัมพูชา เพื่อศึกษาการเข้าไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังการผลิตประมาณ 90 เมกะวัตต์ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสละ 30 เมกะวัตต์ ส่วนที่ลาวกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา
ทั้งนี้ การศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศดังกล่าว เนื่องจากคาดว่าการเติบโตของธุรกิจพลังงานทดแทนในไทยในอีก 3 ปีข้างหน้าจะอยู่ในช่วงชะลอตัว เนื่องจากในปี 56-58 ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนธุรกิจพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างมาก ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ชีวภาพ และขยะ ทำให้เกิดข้อจำกัดของระบบส่งไฟฟ้าในประเทศไม่เพียงพอต่อการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้า
ขณะที่การประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff พ.ศ. 2559 ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และ 4 อำเภอในจ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ ,เทพา,สะบ้าย้อย และนาทวี โดยจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และจากพลังงานชีวมวล ไม่เกิน 36 เมกะวัตต์ นั้น ก็จะเป็นโอกาสให้กับบริษัทได้ขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล โดยบริษัทมีความชำนาญในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งในส่วนของการก่อสร้าง การจัดหาเชื้อเพลิง และการดำเนินการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอพิเศษ
นายเชิดศักดิ์ กล่าวอีกว่า รายได้ในปีนี้จะเติบโต 150% จากปี 58 หลังทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สามารถจ่ายไฟได้เรียบร้อยแล้วจำนวน 2 โครงการ คือโรงไฟฟ้า ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์และโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ และในปีนี้ก็คาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เดินเครื่องจ่ายไฟ (COD) ได้อีก 4 แห่ง คือจ่ายไฟได้ทุกไตรมาสเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1 คือโรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน เดินเครื่องจ่ายไฟไตรมาส 2 โรงไฟฟ้าชีวมวลพัทลุง กรีน เพาเวอร์ เดินเครื่องจ่ายไฟได้ไตรมาส 3 และโรงไฟฟ้าชีวมวลสตูล กรีน เพาเวอร์ เดินเครื่องจ่ายไฟได้ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
ขณะที่ขายไฟแบบระบบ Feet in Tariff (FiT) จะช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดดในระยะเวลาสั้น เพราะอัตราการทำกำไรจะเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่ากับ 45-50% ของรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนธุรกิจใหม่ของบริษัทที่จะมีกำลังการผลิต 150-200 เมกะวัตต์ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีระยะเวลาคืนทุนที่เร็วขึ้น หลังได้รับปัจจัยบวกจากการขายไฟในระบบ FiT ซึ่งจะทำให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนไปพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับในปี 58 บริษัทมีรายได้รวม 304.90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 46.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.54% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพราะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) ที่มีกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตเสนอขายจำนวน 9.2 เมกะวัตต์ เข้ามาเต็มปีและถือว่าเป็นโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลโครงการแรกของบริษัทที่สร้างผลประกอบการออกมาได้อย่างน่าประทับใจมาก