กสทช.เสนอทางเลือกให้ ADVANC เช่าเสาทีโอที-คลื่น 900 MHz จาก TRUE
กสทช.ชูทางเลือกให้ ADVANC เช่าเสาทีโอที-คลื่น TRUE คลื่น 900 MHz เผยหากเอไอเอสยืนยันเลือกโรมมิ่ง DTAC ก็เป็นเรื่องห้ามไม่ได้ ขณะที่ กสทช.คาดว่าจะออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ให้กับ TUC ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นผลทำให้ซิม 2G คลื่น 900 MHz ดับลงในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 14 มี.ค.นี้
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.). เปิดเผยว่า เช้าวันนี้(9 มี.ค.) กสทช.เรียกผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ผู้ให้บริการเครือข่ายเอไอเอส และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) พร้อมด้วย บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด (TUC) บริษัทในกลุ่ม บริษัท ทรู.คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และบมจ.ทีโอที (TOT) มาหารือแนวทางคุ้มครองผู้ใช้บริการ เมื่อเอไอเอสต้องปิดเครือข่ายให้บริการคลื่น 900 MHz
เนื่องจากทาง TUC ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการบนคลื่น 900 MHz รายใหม่ และทีโอที ในฐานะที่เป็นผู้บริหารเสาโครงข่ายที่ได้รับมอบสิทธิจากเอไอเอสไปในช่วงก่อนหน้านี้ ได้เสนอให้เอไอเอส และ AWN มาเช่าใช้คลื่นและเสาโครงข่ายเพื่อให้บริการกับลูกค้าที่ยังไม่โอนย้ายไปยังบริการ 3G เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซิม ดับ โดยเอไอเอส และ AWN. เป็นผู้จ่ายค่าเช่าโครงข่ายของทีโอที และ TUC จะเป็นผู้ได้รับรายได้อีกส่วนหนึ่งในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตคลื่น ซึ่งเบื้องต้นTUC ประเมินรับรายได้เดือนละ 450 ล้านบาท เป็นการคำนวณภายใต้มูลค่าคลื่นที่ประมูลได้
อย่างไรก็ตาม หากเอไอเอสจะยืนยันการเซ็นสัญญาโรมมิ่งกับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าดังกล่าว ก็เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้และเป็นสิทธิของเอไอเอส ดังนั้น เอไอเอสมีทางเลือกว่าหากราคาค่าเช่าโครงข่ายทีโอทีและรายจ่ายที่ต้องจ่ายให้ TUC สูงกว่าค่าใช้จ่ายในการโรมมิ่งกับดีแทค เอไอเอสอาจจะไม่ตอบรับข้อเสนอครั้งนี้ก็ได้
ทั้งนี้ เรื่องสำคัญในขณะนี้คือทำอย่างไรไม่ให้ซิมดับ ทางเอไอเอสได้ยื่นขอให้ขยายมาตรการเยียวยาผู้ใช้คลื่น 900 MHz ออกไปอีก 3 เดือน เพราะยังมีผู้ใช้ประมาณ 8 ล้านรายที่โอนย้ายไปเป็นลูกค้า AWN ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ระบบ 3G แต่ไม่ได้เปลี่ยนเครื่องรองรับกับระบบ 3G ส่วนลูกค้า 2G คลื่น 900MHz มีอยู่ 8 แสนราย แต่เมื่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)ไม่อนุมัติมาตรการเยียวยา จะเกิดผลกระทบเกิดกับประชาชน 8.8 ล้านราย ซึ่งคิดเป็นประมาณ. 8% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมด 90 ล้านราย และทำให้โทรหากันไม่ได้
อย่างไรก็ดีนายก่อกิจ ยอมรับว่า การประชุมวันนี้ยังมีความไม่แน่ใจว่าจะหาข้อสรุปได้หรือไม่ แต่หากยังเจรจาไม่จบก็จะต้องหารือกันต่อในวันพรุ่งนี้ เพื่อหาข้อสรุปนำเสนอต่อคณะกรรมการ กทค.ให้ทันช่วงเช้าวันที่ 11 มี.ค.นี้ โดยจะใช้กฎหมายที่มีอยู่ดำเนินการ
ทั้งนี้ กสทช.คาดว่าจะออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ให้กับ TUC ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นผลทำให้ซิม 2G คลื่น 900 MHz ดับลงในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 14 มี.ค.นี้ แต่ทาง TUC ยังติดตั้งอุปกรณ์ไม่ทัน และการเจรจาของ TUC ในการเช่าใช้โครงข่ายกับทีโอทียังล่าช้าอยู่ จึงเสนอบอร์ด กทค.ให้มีมาตรการรองรับปัญหาดังกล่าวไปก่อน