LANNA เล็งดึงพันธมิตรร่วมตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดฯ-โซลาร์ฟาร์ม หลังถ่านหินยังทรงตัว

LANNA เล็งดึงพันธมิตรร่วมตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดฯ-โซลาร์ฟาร์ม หลังถ่านหินยังทรงตัว


บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หรือ LANNA เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งบริษัทและบริษัทย่อยมีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าไปลงทุนในโครงการดังกล่าว เพราะมีแหล่งสัมปทานเหมืองถ่านหินของตัวเอง ซึ่งนอกจากจะเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตและจำหน่ายถ่านหินแล้ว ยังจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่จะสร้างรายได้และกำไรให้เพิ่มขึ้นในอนาคต ภายใต้เป้าหมายผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ที่ 14-15% คาดว่าจะมีข้อสรุปภายในปีนี้

นายสีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ LANNA กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้เจรจากับพันธมิตรในประเทศไทยไว้ 1 ราย หากมีโครงการที่มีศักยภาพในอินโดนีเซีย บริษัทก็จะจับมือกับพันธมิตรไปร่วมลงทุน โดยมองขนาดของโรงไฟฟ้าราว 150 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องมีปริมาณสำรองถ่านหินราว 1-2 ล้านตันต่อปีเพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งขณะนี้เหมืองของบริษัทมีปริมาณสำรองเพียงพอ หรืออาจมองหาซื้อเหมืองที่สอดคล้องกับโรงไฟฟ้าดังกล่าวก็ได้

ส่วนการขยายธุรกิจพลังงานในประเทศไทยนั้น นายสีหศักดิ์ มองโอกาสลงทุนในโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม) ขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ น่าจะมีความเป็นไปได้มาก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีโครงการมาเสนอ และบริษัทอยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตร

นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจหลักเดิมทั้งถ่านหินและเอทานอลนั้น ในปีนี้บริษัทยังคาดว่าจะสามารถทำกำไรได้ทั้งสองธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แม้สถานการณ์น้ำมันและถ่านหินในตลาดโลกยังอยู่ในขาลง แต่บริษัทจะพยายามบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้ผลการดำเนินงานในปี 59 อยู่ในเกณฑ์ที่ดีและสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างน้อยตามนโยบาย

บริษัทตั้งเป้าปริมาณขายถ่านหินในปี 59 ใกล้เคียงปี 58 ที่ระดับ 5.77 ล้านตัน เนื่องจากราคาถ่านหินยังทรงตัว ดังนั้น การผลิตในปริมาณมากๆ เพื่อเร่งขายจึงไม่มีประโยชน์ โดยบริษัทคาดว่าราคาถ่านหินในปีนี้จะยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดยบริษัทได้วางกลยุทธ์เพื่อลดต้นทุนการผลิตและจำหน่ายถ่านหินให้สอดคล้องกับราคาถ่านหินที่ลดลง เพื่อให้บริษัทสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง

ด้านธุรกิจเอทานอลในปีนี้ตั้งเป้าปริมาณขาย 110 ล้านลิตร สูงกว่าปี 58 ที่มีปริมาณขาย 104 ล้านลิตร โดยราคาขายเอทานอลคาดว่าจะลดลงจากปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงมีผลกระทบต่อราคาขายเอทานอลด้วย โดยในไตรมาส 1/59 ราคาขายเอทานอลลดลงอยู่ที่ 23 บาท/ลิตร จากราคาเฉลี่ยทั้งปี 58 ที่อยู่ในระดับ 25 บาท/ลิตร และคาดว่าไตรมาส 2/59 ราคาจะลดลงไปที่ 22 บาท/ลิตร เพราะต้องยอมรับว่าพืชผลเกษตรปีนี้ยังไม่ใช่ปีทอง

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตเอทานอลสายการผลิตที่ 3 อีก 2 แสนลิตร/วันใน จ.กำแพงเพชร คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในปี 61 รวมทั้งขยายตลาดเพื่อส่งออกเอทานอลและนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเอทานอลจากภูมิภาคอาเซียนเพื่อให้บริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ความคืบหน้าแผนลงทุนขยายท่าเรือใน จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยงบลงทุนราว 50 ล้านบาทเพื่อให้บริการขนส่งปูนเม็ด (Clinker) นั้น ขณะนี้การก่อสร้างดำเนินไปแล้ว และอยู่ในขั้นตอนรอเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 25 เม.ย.59 เพื่อกำหนดในหนังสือบริคณสนธิขยายวัตถุประสงค์การดำเนินธุรกิจเป็นผู้ประกอบการท่าเรือขนส่งปูนด้วยนอกเหนือจากขนส่งถ่านหินก่อนยื่นให้กับกรมเจ้าท่า คาดว่าโครงการนี้จะยังอยู่ในแผน คือเริ่มเปิดให้บริการได้ในเดือนก.ค.59 และรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

Back to top button