TPCH เตรียมยื่นประมูลโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดภาคใต้ 36 MW พ.ค.นี้
TPCH เตรียมยื่นประมูลโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดภาคใต้ 36 MW พ.ค.นี้
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าประมูลงานโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังการผลิต 36 เมกะวัตต์ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดประมูลในช่วงเดือน พ.ค.59 นี้ โดยคาดหวังว่าจะได้ทั้งหมด เนื่องจากบริษัทมีความชำนาญในพื้นที่ดังกล่าว มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน และมีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันยังมีความพร้อมทั้งในศักยภาพการทำงานและเงินลงทุน
ทั้งนี้ หากสามารถประมูลงานได้ทั้งหมดจะส่งผลให้กำลังการผลิตของบริษัทฯเพิ่ทมขึ้นเป็น 140 เมกะวัตต์ เป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนนให้กำลังการผลิตรวมเป็นไปตามเป้าหมายที่ 150 – 200 เมกะวัตต์ ในระยะเวลา 3-5 ปี
ส่วนงานในต่างประเทศของบริษัทนั้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเข้าลงทุนทั้งในกัมพูชาและลาว พร้อมคาดหวังว่าจะเริ่มมีรายได้จากต่างประเทศรับรู้เข้ารมาใน ปี 61 แต่เบื้องต้นยังไม่สามารถระบุรายละเอียดได้เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนการเข้าลงทุน
นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า ในปี 59 บริษัทคาดว่ารายได้จะเติบโต 150% จากปีที่ผ่านมามีรายได้รวม 304.90 ล้านบาท เนื่องจากทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สามารถจ่ายไฟได้เรียบร้อยแล้วจำนวน 2 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าชีวมวล ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์และโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เดินเครื่องจ่ายไฟ (COD) ได้อีก 2 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ และโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน
สำหรับการขายไฟในแบบระบบ Feet in Tariff (FiT) จะช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการเติบโตแบบก้าวกระโดดในระยะเวลาสั้น เพราะอัตราการทำกำไรจะเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่ากับ 45-50% ของรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนธุรกิจใหม่ของบริษัทที่จะมีกำลังการผลิต 150-200 เมกะวัตต์ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีระยะเวลาคืนทุนที่เร็วขึ้น หลังได้รับปัจจัยบวกจากการขายไฟในระบบ FiT ซึ่งจะทำให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนไปพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ ซึ่งถือเป็นการลงทุนในประเภทธุรกิจหลัก (Core Business) ดังนั้นจึงมีนโยบายที่จะติดตาม กำกับ ดูแล บริษัทย่อยที่ได้เข้าไปลงทุนทั้งในด้านการบริหาร (Management) และการดำเนินการ (Operation) อย่างชัดเจน โดยมีการแต่งตั้งกรรมการตัวแทนตามมติกรรมการของบริษัทฯ เข้าไปเป็นกรรมการในแต่ละบริษัทย่อยที่เข้าไปลงทุน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าและบริษัทย่อยจะดำเนินธุรกิจตามนโยบายเดียวกันกับบริษัทฯ
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีระบบงานที่สามารถสนับสนุนการประสานงานและการรายงานที่เป็น daily operation ระหว่างทีมผู้บริหารในด้านการปฏิบัติการของบริษัทย่อยและบริษัทฯ เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย