CKP มองการไกล! ตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าแตะ 5,000MW ในปี 68

CKP คาดปีนี้รายได้-กำไรใกล้เคียงปึก่อนที่มีรายได้รวม 6.8 พันลบ. ตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าแตะ 5,000MW ในปี 68 จากปัจจุบัน 2,160MW มุ่งขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในไทย-ลาว-พม่า


นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้ารวม 5,000 เมกะวัตต์ภายใน 10 ปี หรือภายในปี 68 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2,160 เมกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มกว่าเท่าตัว

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น 2 (BIC2) กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์และมีกำลังการผลิตไอน้ำ 20 ตันต่อชั่วโมง มีกำหนดการเริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือน มิ.ย.60 และโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี (XPCL) ใน สปป.ลาว กำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ความคืบหน้างานก่อสร้าง 59% กำหนดเริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 62

ขณะที่บริษัทมุ่งขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าใน 3 ประเทศเป็นหลัก คือ ไทย สปป.ลาว และ เมียนมาร์ โดยในไทย บริษัทได้ยื่นเข้าร่วมโครงการโซลาร์สหกรณ์ จำนวน 5 เมกะวัตต์ที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งจะมีการจับสลากในวันที่ 21 เม.ย.นี้ และยังได้ศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ขนาด 20 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีอีก 3-4 เดือน นอกจากนี้จะติดตามความคืบหน้าการประกาศรับซื้อโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP 2015) ส่วนใน สปป.ลาว คาดว่าจะมีการเปิดให้สัมปทานโรงไฟฟ้าพลังน้ำอย่างน้อยอีก 2 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการพลังน้ำขนาดใหญ่

ขณะที่โครงการน้ำบาก ขนาด 150 เมกะวัตต์ได้ชะลอออกไป เนื่องจากการเจรจาค่าไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ที่ 2.59-2.60 บาท/หน่วย เป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนโครงการ ขณะเดียวบริษัทจะเจรจากับทางการ สปป.ลาวเพื่อขอขยายเวลาบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) ที่ลงนามไว้ออกไปอีก 6 เดือน และในเมียนมาร์ บริษัทเห็นว่ามีศักยภาพสูง จึงได้เข้าไปศึกษาโครงการพลังน้ำที่เป็นโครงการขนาดใหญ่กว่าใน สปป.ลาว โดยจะเข้าไปศึกษาเขิงลึก รวมทั้งด้านวัฒนธรรม และความเสี่ยงต่างๆ

ด้านกรรมการผู้จัดการ CKP คาดว่าในปี 59 รายได้และกำไรจะใกล้เคียงปึก่อนที่มีรายได้รวม 6.8 พันล้านบาท กำไรสุทธิ 411.88 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้ไม่มีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มเข้ามาจากสิ้นปี 58 ที่มีกำลังการผลิต 2,160 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้หลักในปีนี่จะมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 59% พลังงานความร้อน 19% และพลังงานแสงอาทิตย์ 2% ที่เหลือมาจากรายได้บริษัทในกลุ่ม

ขณะที่ในวันนี้ที่ประชุมผู้ถือหุ้น CKP วันนี้อนุมัติให้บริษัทออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยจะเริ่มทยอยออกในข่วงครึ่งปีหลังนี้ หุ้นกู้ล็อตแรกอาจจะไม่มีการตัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินไปใช้ลงทุนในส่วนทุนของโครงการไซยะบุรีที่บริษัทถือหุ้น 30% ในปี 59-62 เฉลี่ยปีละ 1 พันล้านบาท รวมทั้งหมดประมาณ 3 พันล้านบาท และการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการผลิตไฟฟ้าแห่งอื่นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องของบริษัท

นอกจากนี้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด (NN2) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ยังได้รีไฟแนนซ์หนี้ของโครงการน้ำงึม 2  ออกไปอีก 8 ปี จากกำหนดชำระเดิมในปี 65 ไปเป็นปี 73 และอัตราดอกเบี้ยลดลง อีกทั้งยังสามารถกู้เงินเพิ่มอีก 3 พันล้านบาท จากเงินต้นเดิม 1.6 หมื่นล้านบาท เป็น 1.9 หมื่ล้านบาท โดยบริษัทจะนำเงินไปปรับปรุงยกระดับแรงดันไฟฟ้าและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยนาบง

“ตรงนี้จะเป็นอัพไซด์ให้ CKP ได้เงินปันผลจากน้ำงึม 2 เพิ่มขึ้นจากกที่ปีละประมากว่า 100 ล้านบาท”นายธนวัฒน์ กล่าว

Back to top button