BANPU ดึง”อนนต์ สิริแสงทักษิณ”นั่งบอร์ดบริหาร-ที่ปรึกษาเสริมทัพรุกธุรกิจต้นน้ำ

BANPU ดึง"อนนต์ สิริแสงทักษิณ"นั่งบอร์ดบริหาร-ที่ปรึกษาเสริมทัพรุกธุรกิจต้นน้ำ


นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เปิดเผยว่า บริษัทได้แต่งตั้งนายอนนต์ สิริแสงทักษิณ อดีตผู้บริหารกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) เป็นกรรมการบริหารและที่ปรึกษา เพื่อนำประสบการณ์กว่าสามทศวรรษในการบริหารธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาขับเคลื่อนกลยุทธ์ใหม่ของบริษัทให้เดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง

โดยได้รับการอนุมัติในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 เมื่อวานนี้ ขณะที่ล่าสุดบริษัทได้เข้าไปลงทุนถือหุ้นในแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (Shale Gas) ในสหรัฐ ด้วยเงินลงทุน 112 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางสมฤดี กล่าวอีกว่า บริษัทได้ทำการประเมินเชิงลึกถึงแผนการลงทุนมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างมูลค่าระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้วยการสร้างความหลากหลายทางธุรกิจให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งนำเอาทักษะและจุดแข็งต่างๆ ที่มีอยู่มาต่อยอด ในขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงต่างๆ และนำหลักของการเติบโตอย่างยั่งยืนมาใช้ให้เหมาะสม ซึ่งทำให้บริษัทได้เริ่มต้นก้าวสู่การลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่ๆ

ในขณะที่ธุรกิจพลังงานหลักยังคงดำเนินต่อไปอย่างแข็งแกร่ง และก็จะเริ่มนำธุรกิจพลังงานที่สอดรับกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยสร้างสมดุลด้วย โดยจะเห็นได้จากการที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น และขณะนี้ก็ได้เข้าไปเริ่มธุรกิจการผลิตก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดานในสหรัฐอเมริกาแล้ว ซึ่งนับเป็นการก้าวเข้าสู่มิติใหม่ของการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจของบริษัท โดยการลงทุนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทได้ปรับตัวตามแนวทางพลังงานของโลกที่เปลี่ยนแปลง

สำหรับการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกานั้น บริษัทได้เข้าถือครองสิทธิ 29.4% ในสัญญาร่วมสำรวจ (Joint Exploration Agreement: JEA) ที่ Chaffee Corners ซึ่งเป็นแหล่งผลิต Shale Gas ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ ที่ตั้งอยู่ทางแถบตะวันออกเฉียงเหนือของ Marcellus Shale ในรัฐเพนซิลเวเนีย โดยคิดเป็นมูลค่า 112 ล้านเหรียญสหรัฐ

Marcellus Shale เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ และเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีปริมาณก๊าซสำรองที่พิสูจน์แล้วประมาณ 85 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.) คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับหนึ่งในห้าของการผลิตก๊าซทั้งหมดในประเทศ โดยมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนขนส่งที่ต่ำ และตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับตลาดที่มีความต้องการใช้พลังงานสูง ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐ ขณะที่สัดส่วนการถือครองปริมาณสำรอง (P1) ของบริษัทอยู่ที่ 156,000 ลบ.ฟ. และมีเป้าการผลิตในปีนี้ให้ได้ปริมาณรวมทั้งสิ้น 21 ล้าน ลบ.ฟ./วัน เพื่อส่งมอบต่อลูกค้าในประเทศ โดยใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก

ส่วนผู้ร่วมลงทุนและบริหารจัดการการผลิต คือ บริษัท Talisman Energy ซึ่งถือครองสิทธิ 65.4% โดยเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจ Shale Gas ในทวีปอเมริกาที่ผลิตก๊าซจาก Marcellus Shale กว่า 400 ล้าน ลบ.ฟ./วัน

นางสมฤดี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม บริษัทมองว่าธุรกิจถ่านหินก็จะยังสร้างมูลค่าจากการเติบโตได้อีกมาก และการที่บริษัทเริ่มการลงทุนเพิ่มในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักสอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ที่สำคัญเป็นการกระจายความเสี่ยงเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ในการลงทุน ด้วยการเข้าไปปักธงธุรกิจในสหรัฐ เพื่อสร้างสมดุลให้กับกิจการต่างๆ ของบริษัทที่กระจายตัวอยู่แล้วในภูมิภาคเอเชียก่อนการบรรลุข้อตกลงทางธุรกิจนี้

นางสมฤดี กล่าวว่า ภาวะราคาน้ำมันและก๊าซที่กำลังปรับตัวลดลงอยู่ ถือเป็นจังหวะที่ดีให้บริษัทได้ลงทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำ และมีแนวโน้มที่จะได้ผลตอบแทนที่สูง ณ วันนี้บริษัทได้ก้าวเข้าไปเริ่มการลงทุนธุรกิจการผลิตก๊าซธรรมชาติของสหรัฐในพื้นที่ที่มีศักยภาพอย่างมาร์เซลลัส ซึ่งเอื้อต่อการขยายโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อหรือขายกิจการในตลาดซึ่งมีสภาพคล่องที่ดี

กลยุทธ์ของบริษัทในครั้งนี้จะนำมาซึ่งการพัฒนาธุรกิจที่สร้างมูลค่าในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สำหรับธุรกิจต้นน้ำจะเน้นลงทุนกิจการก๊าซธรรมชาติจาก Shale Gas ในสหรัฐ ส่วนธุรกิจกลางน้ำบริษัทกำลังพิจารณาการจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในกิจการเหมืองถ่านหินของบริษัท ซึ่งสามารถพัฒนาต่อไปเป็นธุรกิจบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานพลังงานในระดับภูมิภาค

ด้านธุรกิจปลายน้ำ นอกจากลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงสูงและปล่อยมลภาวะต่ำ (High Efficiency Low Emissions: HELE) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงแต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำผ่าน บมจ.บ้านปูเพาเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือแล้ว บริษัทยังได้ประเมินศักยภาพของธุรกิจระบบจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ (Smart Energy) ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจการผลิตและบริการด้านพลังงานหลากหลายรูปแบบที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่ต่างๆได้ เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงระบบจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) และเทคโนโลยีพลังงานอื่นๆ เพื่อที่จะสามารถรองรับความต้องการด้านพลังงานของผู้บริโภคให้ได้ดีที่สุด

ทั้งนี้ แผนธุรกิจและการกำหนดงบประมาณเบื้องต้นสำหรับกลยุทธ์ดังกล่าวจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 3/59

Back to top button