กกพ.เล็งเปิดรับซื้อไฟฟ้า FiT Bidding ก๊าซชีวภาพ จ.ชายแดนใต้ เพิ่ม
กกพ.เล็งเปิดรับซื้อไฟฟ้า FiT Bidding ก๊าซชีวภาพ จ.ชายแดนใต้อีกครั้ง หลังรอบแรกได้แค่ 2 MW จากเป้าหมายที่จะรับซื้อไม่เกิน 10MW
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยว่า กกพ.อาจจะรับซื้อไฟฟ้าสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff พ.ศ.2559 สำหรับพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้ ในรูปแบบการแข่งขันทางด้านราคา (Competitve Bidding) ประเภทเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพอีกครั้ง หลังจากที่การประกาศรับซื้อครั้งแรกคัดเลือกมาได้เพียงโครงการเดียว ขนาด 2 เมกะวัตต์เท่านั้น จากเป้าหมายที่จะรับซื้อไม่เกิน 10 เมกะวัตต์
โดย วานนี้ (21 เม.ย.) กกพ.ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ในโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส) และ 4 อำเภอในจังหวัดสงลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) ได้แก่ บริษัท พลังงานไทยเสริมสุข จำกัด ภายใต้ชื่อโครงการบาเจาะ ไบโอก๊าซ ขนาดกำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ หากจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าก๊าซชีวภาพอีกครั้ง ก็คาดว่าน่าจะมีขึ้นหลังจากรับซื้อไฟฟ้าในโครงการเชื้อเพลิงชีวมวลไม่เกิน 36 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการประกาศข้อมูลศักยภาพระบบไฟฟ้าวันที่ 2 พ.ค.59 หลังจากนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดรับตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าระหว่างวันที่ 10-31 พ.ค.59 โดยจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าระหว่างวันที่ 15-21 มิ.ย.59 และประกาศรายชื่อผู้ผ่านการประเมินคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิค วันที่ 22 ก.ค.59 เปิดซองข้อเสนอด้านราคา วันที่ 8 ส.ค.59 และประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือก วันที่ 11 ส.ค.59 ขณะที่ กฟภ.และผู้ที่ได้รับคัดเลือกลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในวันที่ 9 ธ.ค.59
สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในแบบ FiT มีทั้งหมด 2 ระยะ โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ภายในวันที่ 31 ธ.ค.61 จากการรับซื้อไฟฟ้าในระยะที่ 1 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ปริมาณกำลังผลิตติดตั้งรวมไม่เกิน 46 เมกะวัตต์ ส่วนระยะที่ 2 จะรับซื้อไฟฟ้าจากพื้นที่ทั่วประเทศ คาดว่าจะมีราว 500 เมกะวัตต์ในช่วงกลางปีนี้
ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะนั้น นายวีระพล กล่าวว่า ยังคงเดินหน้าตามแผน ขณะนี้รอข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยที่ผู้สนใจจะต้องยื่นข้อมูลให้พิจารณาก่อน ซึ่งตามเป้าหมายรัฐบาลจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะอุตสาหกรรม จำนวน 50 เมกะวัตต์ และขยะชุมชน จำนวน 500 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้จะเป็นพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 4 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับสัญญาผูกพันเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะชุมชนแล้วจำนวน 380 เมกะวัตต์ ทำให้คงเหลือการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะชุมชนได้อีก 120 เมกะวัตต์เท่านั้น