BEM ฟิน! กทพ.จนตรอก ลุ้นครม.ขยายสัมปทานแทนค่าโง่ทางด่วน 8 พันลบ.

BEM ฟิน! กทพ.จนตรอก ลุ้นครม.ขยายสัมปทานแทนค่าโง่ทางด่วน 8 พันลบ.


พล.อ.สุชาติ วิวรรธน์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด กทพ. เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาคดีค่าผ่านทางด่วน ปี 2546 กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ หลังคณะกรรมการพิจารณาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ กระทรวงการคลัง และสำนักงานการยุติการดำเนินคดีแพ่งและอนุญาโตตุลาการ สำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นว่า กทพ.ไม่มีเหตุที่จะไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ อีกทั้งไม่สามารถเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวได้   

ดังนั้น เมื่อทั้ง 2 หน่วยงานที่ กทพ.ได้สอบถามไปนั้นระบุความเห็นมาแล้วดังกล่าว บอร์ด กทพ.จึงมีมติเห็นว่า กทพ.ไม่มีเหตุที่ฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อต่อสู้คดีต่อไป เว้นแต่มีข้อมูลใหม่มาเสนอจึงจะฟ้องศาลปกครอง ซึ่งที่ผ่านมากว่า 10 ปีคดีข้อพิพาทระหว่าง กทพ. กับ BEM ไม่น่าจะมีข้อมูลใหม่

 ทั้งนี้ หากมีตามขั้นตอนจะต้องเร่งเสนอเข้ามาก่อนที่จะส่งเรื่องต่อไปที่กระทรวงคมนาคม โดยบอร์ดได้เร่งรัดให้ กทพ.สรุปรายละเอียดและเสนอคมนาคมภายในวันนี้ (13 พ.ค.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบแนวทางตามมติบอร์ดที่จะไม่ยื่นฟ้องศาลปกครอง และเสนอมาตรการลดผลกระทบต่อ กทพ.ในอนาคตภายในวันที่ 17 พ.ค. อย่างไรก็ตาม หาก ครม.พิจารณาแล้วมีมติให้สู้คดี กทพ.จะต้องปฏิบัติตาม

สำหรับมาตรการลดผลกระทบต่อ กทพ.นั้น ผลการเจรจาของคณะผู้แทน กทพ.ที่มี พล.อ.อ.ยุทธนา สุกุมลจันทร์ บอร์ด กทพ.เป็นประธาน สรุปว่า ทาง BEM ยอมลดจำนวนเงินค่าชดเชย จากที่ยื่นฟ้อง กทพ.ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการกว่า 8 พันล้านบาทลงแม้ไม่ถึงครึ่งแต่ถือว่าค่อนข้างมาก ส่วนจะเป็นจำนวนเงินเท่าไรนั้นยังเปิดเผยตัวเลขไม่ได้ โดยการเจรจาได้มีการพิจารณาจำนวนเงินที่เกิดจากส่วนต่างการปรับค่าผ่านทางซึ่งเป็นผลสืบเนื่องตั้งแต่ปี 2546 ปี 2551 ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ และปี 2556 ที่ผ่านมารวมกันทั้งหมดเพื่อหาข้อยุติในคราวเดียว และไม่ให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต

โดยตามสัญญา ก่อนสิ้นสุดสัมปทานปี 2563 จะมีการปรับค่าผ่านทางอีกเป็นครั้งสุดท้ายในปี 2561 ซึ่งการยุติปัญหาโดย กทพ.ไม่ฟ้องคดีนั้นยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อ กทพ. และพนักงาน เนื่องจากตัวเลขค่าชดเชยเป็นเงินจำนวนมาก หากจ่ายเพียงครั้งเดียวบัญชีของ กทพ.จะติดลบ

ดังนั้นจะต้องหาแนวทางที่ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงไม่ทำให้ประชาชนที่ใช้บริการทางด่วนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งในการเจรจามีการเสนอให้ขยายสัญญาสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 2 กับ BEM แทนเพื่อลดผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทพ.เสนอให้สู้คดี โดยยึดแนวทางคดีค่าทางด่วนปี 2541 และคดีค่าโง่ทางด่วนสายบางนา 6,200 ล้านบาท ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ กทพ.แพ้ แต่เมื่อยื่นศาลปกครองตัดสินให้ กทพ.เป็นฝ่ายชนะนั้น ต้องพิจารณาเนื้อหาสาระให้ดีว่าชนะเพราะเนื้อหาสาระ หรือชนะเพราะมีประเด็นอื่น โดยคดีค่าทางด่วน ปี 2541 ตัดสินว่าการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการ 2 ชุดไม่ได้ส่วนค่าโง่ทางด่วนบางนา เพราะการทำสัญญาฉ้อฉล สัญญาจึงเป็นโมฆะ

ด้านนายลาภดี กลยนีย์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) พร้อมด้วยพนักงานลูกจ้างประมาณ 100 คน ได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.สุชาติ วิวรรธน์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ก่อนการประชุมบอร์ด กทพ. เพื่อให้พิจารณาต่อสู้คดีและการจ่ายเงินชดเชย BEM แล้ว โดยภายหลังบอร์ดมีมติดังกล่าว สหภาพฯ กทพ.ได้นัดรวมตัวกันเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 พ.ค. เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล

Back to top button