GPSCเผยโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำลิก 1 ในลาวเลื่อน COD เป็น Q4/61

GPSCเผยโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำลิก 1 ในลาวเลื่อน COD เป็น Q4/61


นายปวเรศ รัตนสุวรรณ ผู้จัดการส่วน ส่วนกลยุทธ์องค์กร บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำลิก 1 ในลาว เลื่อนการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เป็นไตรมาส 4/61 จากเดิมที่จะเริ่มผลิตไฟฟ้าในปลายปี 60 เนื่องจากผู้รับเหมาจากเกาหลีก่อสร้างล่าช้า โดยล่าสุดโครงการมีความคืบหน้าประมาณ 40% ขณะที่โครงการดังกล่าว GPSC ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 40% โดยโครงการมีกำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าลาว

สำหรับความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังขยะ ขนาด 6-9 เมกะวัตต์ ในจ.ระยอง ซึ่งดำเนินการร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จ.ระยองนั้น ขณะนี้ออกแบบแล้วเสร็จ และได้ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างแล้วแต่ยังติดปัญหาหลายจุด โดยที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาเรื่องผังเมืองเรียบร้อยแล้ว แต่ยังติดปัญหามูลค่าโครงการที่มากกว่า 1 พันล้านบาท ทำให้ต้องเข้าข่ายของพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ทำให้กลับมาศึกษาแนวทางว่าจะแยกโครงการออกเป็นส่วนๆ โดยจะแยกส่วนที่เป็นการผลิตเชื้อเพลิง และโรงไฟฟ้าออกจากกัน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าผลตอบแทนการลงทุน (IRR) จะอยู่ในระดับช่วงต้นๆ 10%

ขณะที่การลงทุนในโครงการต่าง ๆ ยังเป็นไปตามแผน โดยโรงไฟฟ้าของบริษัท ผลิตไฟฟ้านวนคร จำกัด (NNEG)  ขนาด 125 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 30% จะเข้าระบบระบบในราวไตรมาส 2/59 ,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โซล่าร์ ขนาด 5 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค.59 และรับรู้รายได้เต็มที่ตั้งแต่ไตรมาส 1/60

ส่วนในปี 60 มีโครงการเข้าระบบ ได้แก่ บริษัท ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ จำกัด (IRPC-CP) ระยะที่ 2, โรงไฟฟ้าบริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ระยะที่ 2 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ichinoseki Solar Power 1 GK (ISP1) ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ในปี 61 โครงการโรงผลิตสาธารณูปการแห่งที่ 4 และโครงการน้ำลิก 1 เข้าระบบ ส่วนในปี 62 โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ก็จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามแผน

ทั้งนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนจะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนของบริษัทเพิ่มเป็น 1,922 เมกะวัตต์ และผลิตไอน้ำ 1,582 ตัน/ชั่วโมง จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 1,388 เมกะวัตต์ และผลิตไอน้ำ 1,432 ตัน/ชั่วโมง โดยมีแบ่งเป็นการขายไฟฟ้าของกลุ่มไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) สัดส่วน 29% และกลุ่มเอกชนรายเล็ก (SPP) ซึ่งขายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม 38% และการขายไอน้ำ 31% ส่วนที่เหลือเป็นอื่นๆ

สำหรับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนพ.ค.-ส.ค.59 ที่ลดลง 28.49 สตางค์/หน่วยนั้น จะกระทบในส่วนการขายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม แต่โดยหลักการแล้วค่าเอฟทีลดลงค่าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้าก็ลดลงด้วย ซึ่งเป็นไปในแนวทางที่สอดคล้องกันก็จะไม่มีได้รับผลกระทบมากนัก ขณะที่ในไตรมาส 2/59 บริษัทจะมีลูกค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) เพิ่มเข้ามาหลังเริ่มเดินเครื่องผลิตโครงการฟีนอล 2 ในเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งบริษัทได้ขายไฟฟ้าให้ในปริมาณ 10 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 110 ตัน/ชั่วโมง ซึ่งก็จะทำให้ได้รับรายได้เพิ่มเข้ามาด้วย

Back to top button