LANNA จ่อประมูลโรงไฟฟ้าอินโดฯ 200 MW ลงทุนราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ
LANNA เล็งเข้าประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินอินโดฯขนาด 200 MW ด้วยเงินทุนราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดเห็นความชัดเจนในปี 59-60 เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะประกาศเปิดประมูลโครงการได้ก่อนสิ้นเดือนนี้ และหากได้รับคัดเลือกก็คาดว่าได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เร็วสุดใน 1 ปี หลังจากประกาศผล
นายสีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)หรือ LANNAเปิดเผยว่า บริษัทได้วางแผนที่จะผันตัวสู่การเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย ขนาด 200 เมกะวัตต์ (MW) ด้วยเงินทุนราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่บริษัทได้หาพันธมิตรไทยที่มีประสบการณ์เข้ามาร่วมลงทุนด้วย รวมถึงจะหาพันธมิตรท้องถิ่นเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งอีก ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปี 59-60
เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะประกาศเปิดประมูลโครงการได้ก่อนสิ้นเดือนนี้ และหากได้รับคัดเลือกก็คาดว่าได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เร็วสุดใน 1 ปี หลังจากประกาศผล
ทั้งนี้ โครงการคาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ราว 10-12% ถึงแม้จะต่ำกว่ามาตรฐานการลงทุนของบริษัท แต่ธุรกิจไฟฟ้านับว่าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างหลักประกันเรื่องผลการดำเนินงานได้ค่อนข้างดี อีกทั้งโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะอยู่ห่างจากเหมืองของบริษัทไม่ถึง 10 กิโลเมตรทำให้มีโอกาสที่จะสามารถประมูลได้เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว
“LANNA มองขนาดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ต่ำกว่า 300 MW น่าจะเหมาะกับการลงทุนเรา โดยมองที่ 200 MW ก่อน ด้วยบริษัทยังมีเงินสดจากที่สามารถทำกำไรได้ และก็จะหาพาร์ทเนอร์เข้ามาเสริม โดยไม่ต้องมีหนี้หรือดอกเบี้ย และโรงไฟฟ้าในอินโดฯที่จะทำก็อยู่ใกล้เหมืองของเราปริมาณสำรองถ่านหินมีเพียงพอ คาดน่าจะ bid ภายในปีนี้ ซึ่งมีเราเจ้าเดียวไม่มีคู่แข่งเพราะเหมืองอื่นไม่สามารถข้ามป่าสงวนมาได้”นายสีหศักดิ์ กล่าว
ส่วนภาพรวมของธุรกิจถ่านหินทรงตัว โดยเฉพาะที่เหมือง SGP ผลการดำเนินงานเริ่มทรงตัว โดยจะพยายามให้ขาดทุนน้อยที่สุด ขณะที่เหมือง LHI ที่ยังสามารถทำกำไรได้ดี ขณะที่ราคาถ่านหินในตลาดโลกยังถูกดดันและอีก 3 ปีคงไม่เห็นราคาปรับขึ้น โดยบริษัทยังคงกลยุทธ์หลักในการควบคุมต้นทุนการทำเหมืองถ่านหินอยู่ต่อไป ขณะที่ธุรกิจเอทานอลมีราคาขายที่ลดลงตามภาวะราคาน้ำมันที่ผันผวน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ราคาถ่านหินในตลาดโลกลดลง บริษัทก็ยังมีความสามารถในการบริหารต้นทุนที่ดีและปรับตัวไปตามสภาพอุตสาหกรรม ทำให้ยังรักษากำไรจากการดำเนินงานไว้ได้ โดยในปีนี้บริษัทยังคงปริมาณขายถ่านหินที่ระดับ 6 ล้านตันใกล้เคียงปีก่อน ขณะที่ยังมองโอกาสการขยายไปสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งนอกเหนือจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซียแล้ว ยังให้ความสนใจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทั้งจากแสงอาทิตย์ พลังลม และไบโอแมสด้วย
สำหรับธุรกิจเอทานอล ไตรมาส 2/59 คาดราคาขายปรับลดลงอีก 0.50 บาท/ลิตร เป็นไปตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวน โดยไตรมาส 1/59 ราคาขายเอทานอลอยู่ที่ 22.98 บาท/ลิตร