BEM มั่นใจปีนี้ธุรกิจรถไฟฟ้าพลิกมีกำไร หลังเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงเร็วกว่าแผน
BEM มั่นใจปีนี้ธุรกิจรถไฟฟ้าพลิกมีกำไร หลังเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงเร็วกว่าแผน
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทคาดว่าธุรกิจรถไฟฟ้าจะมีกำไรนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา 12 ปี (เดิมเป็น บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL) เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน จะเริ่มให้บริการในวันที่ 6 ส.ค.59 เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิมในเดือน ธ.ค.59 ทำให้บริษัททำกำไรได้เร็วกว่าที่วางแผนไว้จะมีกำไรในปี 60 เพราะจะมีจำนวนผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่เพิ่มเข้ามาในระบบ
ในปีนี้คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเติบโต 10% จากปีก่อนที่มีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 2.7 แสนเที่ยว/วัน โดยมาจาการเติบโตตามปกติ 4% และจากการเริ่มเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง 6% หรือมีจำนวนผู้โดยสารเข้าระบบประมาณ 1.6 หมื่นเที่ยว/วัน และคาดว่าปี 59 รายได้จะเติบโต 10% เป็น 2.2 พันล้านบาทจาก 2 พันล้านบาทในปีก่อน เพราะบริษัทรับรู้รายได้จากการรับจ้างเดินรถรถไฟฟ้าสายสีม่วงแม้ว่าจะยังไม่เต็มปี
จากนั้นในปี 60 คาดว่ารายได้จะเติบโต 20% เพราะจะรับรู้รายได้จากการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงเต็มปี ประเมินจำนวนผู้โดยสารเข้ามาเพิ่มขึ้น 20% หรืออีกประมาณ 6 หมื่นเที่ยว/วัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนสถานีบางซื่อที่ยังไม่เชื่อมต่อสถานีเตาปูนนั้น คาดว่าบริษัทจะไม่รับผลกระทบมากนัก เพราะเชื่อว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่จะยังใช้บริการรถไฟฟ้าเดินทางต่อเนื่อง
นายสมบัติ กล่าวว่า โดยภาพรวมเมื่อ BEM ได้เดินรถสายสีม่วงก็ถือว่าเติบโตแบบก้าวกระโดด และปีหน้าคาดการณ์สีม่วงเปิดให้บริการเต็มปี ผู้โดยสารโตขึ้นแบบอัตราก้าวหน้า จากปกติเติบโตเฉลี่ย 4% ซึ่งปีหน้ารับรู้ฯ เต็มปีคาดว่าจะเติบโต 20% จากปัจจุบันเฉลี่ย 2.7 แสนเที่ยว/วัน เพิ่มเป็น 3.3 แสนเที่ยว/วัน
ทั้งนี้ BEM รับจ้างเดินรถสายสีม่วง ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างและวางราง 3 ปี เหลือระยะเวลาเดินรถ 27 ปี โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ว่าจ้างเดินรถปีละเฉลี่ย 2 พันล้านบาทโดยปีแรกได้ค่าจ้าง 1.8 พันล้านบาทและทยอยขึ้นเป็นขั้นบันไดไปปีสุดท้ายได้เงินรับจ้างปีละ 3 พันล้านบาท แต่ปีนี้รับรู้ฯ 1 ใน 3 หรือประมาณ 600 ล้านบาท
ปัจจุบัน BEM เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือสายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ ระยะทาง 20กม. มีจำนวนผู้โดยสารในวันธรรมดา 3 แสนเที่ยว/วัน วันเสาร์ มีจำนวน 2 แสนเที่ยว/วัน และในวันอาทิตย์มีจำนวน 1.7 แสนเที่ยว/วัน โดยเฉลี่ยมีจำนวน 2.7 แสนเที่ยว/วัน โดยมีรายได้เฉลี่ย 26 บาท/เที่ยว ทั้งนี้ เริ่มเดินรถเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 47
นายสมบัติ คาดว่า ในช่วง 5-10 ปี ธุรกิจรถไฟฟ้าจะเติบโตทั้งรายได้และกำไรอย่างก้าวกระโดด หรือเติบโตมากกว่า 20% เพราะจะมีการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าสายสีส้ม รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎรบูรณะ ทั้งนี้ มั่นใจว่า BEM มีโอกาสได้งาน เพราะธุรกิจนี้มีคู่แข่งน้อย
บริษัทยังเตรียมพร้อมเข้ารับงานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และ ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ขณะนี้รอภาครัฐว่าจะเจรจากับ BEM ให้เดินรถต่อเนื่องเพราะเป็นผู้เดินรถสายสีน้ำเงินในปัจจุบัน หรือจะเปิดประมูลใหม่ ซึ่งบริษัทก็พร้อมเข้าร่วมประมูล เนื่องจาก BEM มีความพร้อมทั้งด้านการเดินรถและซ่อมบำรุง และมีความพร้อมทางการเงินหลังจากที่ควบรวมกิจการกับ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) มาเป็น BEM
ทั้งนี้ คาดว่าการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถไฟฟ้า 30กว่า ขบวนๆละ 3 ตู้ ซึ่งบริษัทได้ติดต่อจัดหารถไฟฟ้าจากผู้ผลิตหลายราย ได้แก่ กลุ่ม MTJV คือ มารูเบนิและโตชิบา จากญี่ปุ่น, กลุ่มอัลสตอมจากฝรั่งเศส , บอมบาดิเอร์จากแคนาดา และ ซีเมนส์จากเยอรมัน
หาก BEM ได้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จะทำให้จำนวนผู้โดยสารเติบโตก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 5 แสนเที่ยว/วันได้ เพราะเส้นนี้ภาครัฐให้เอกชนร่วมทุนแบบ PPP Net Cost ที่ให้เอกชนลงทุนและบริหารเดินรถเหมือนเส้นทางปัจจุบันที่บริษัทให้บริการอยู่แล้ว ทั้งนี้ ใช้ระยะเวลาก่อสร้างและวางระบบราง จำนวน 36 เดือน หรือ 3 ปี โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณ ปี 63