กพช. อนุมัติ PTT สร้างคลัง LNG แห่งที่ 2 พร้อมให้ กฟผ. ศึกษาโครงการ FSRU

กพช. อนุมัติ PTT สร้างคลัง LNG แห่งที่ 2 ในจ.ระยอง ขนาด 5 ล้านตัน/ปี พร้อมให้ กฟผ. ศึกษาโครงการคลัง LNG ในรูปแบบเรือลอยน้ำ บนพื้นที่อ่าวไทยตอนบนสำหรับรองรับการนำเข้า LNG


คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT สร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งที่ 2 ในจ.ระยอง ขนาด 5 ล้านตัน/ปี พร้อมทั้งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาโครงการคลัง LNG ในรูปแบบเรือลอยน้ำ FSRU (Floating Storage Regisification Unit) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน สำหรับรองรับการนำเข้า LNG ขนาด 5 ล้านตัน/ปี 

ด้าน พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า จากการประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) ในปี 2579 จะอยู่ที่ระดับ 4,344 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แต่เนื่องจากปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดความล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผน PDP 2015 กระทรวงพลังงานจึงได้มีการปรับประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มเป็น 5,653 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ประกอบกับการจัดหาก๊าซฯจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งจากแหล่งก๊าซฯ ในประเทศ แหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) และที่นำเข้าจากแหล่งก๊าซฯ ในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศเมียนมา จะมีปริมาณลดลงในอนาคต จึงอาจจะเป็นต้องนำเข้าในรูปแบบ LNG เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติของประเทศมีความพร้อมสำหรับรองรับความต้องการใช้และการจัดหาก๊าซฯที่เพิ่มมากขึ้น กพช.จึงให้ปตท.ขยายกำลังการแปรสภาพ LNG ของคลัง LNG แห่งที่ 1 ในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง เพิ่มเติมอีก 1.5 ล้านตัน/ปี วงเงินงบประมาณ 1 พันล้านบาท โดยให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

พร้อมกันนี้ให้ปตท.ดำเนินโครงการคลัง LNG แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นแห่งใหม่ในพื้นที่จ.ระยอง สำหรับรองรับการนำเข้า LNG ในปริมาณ 5 ล้านตัน/ปี วงเงินงบประมาณ 36,800 ล้านบาท โดยให้แล้วเสร็จภายในปี 2565

นอกจากนี้ยังให้กฟผ.ศึกษา โครงการ FSRU พื้นที่อ่าวไทยตอนบน สำหรับรองรับการนำเข้า LNG ในปริมาณ 5 ล้านตัน/ปี เพื่อจัดส่งก๊าซฯให้แก่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ พระนครเหนือ รวมทั้งจัดส่งก๊าซฯเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ โดยให้นำกลับมาเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)  และ กพช. พิจารณาภายใน 3.5 เดือน

โดย กพช.ยังได้รับรายงานเรื่องการนำเข้า LNG และแนวทางการดำเนินการสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวกับกลุ่มเชลล์ และบีพี โดยกระทรวงพลังงานได้รายงานว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว มีผลทำให้ตลาด LNG มีอุปทานมากกว่าอุปสงค์ และราคา LNG ในตลาดจร (Spot)  อยู่ในระดับต่ำมาก ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีการชะลอตัว ส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการใช้ LNG ในปี 2559 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558-2579 (Gas Plan 2015) จากประมาณ 4.5 ล้านตัน/ปี ลดลงอยู่ที่ 2.7-3.1 ล้านตัน/ปี

ด้าน รมว.พลังงานจึงเห็นควรให้ ปตท. เจรจาทบทวนสัญญาซื้อขาย LNG กับเชลล์ และบีพีใหม่ เพื่อให้สะท้อนกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งปตท.ได้ดำเนินการและรายงานความก้าวหน้าการเจรจา โดยได้เลื่อนกำหนดการส่งมอบ LNG ของสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ออกไป จากเดิมปี 2559 เป็นปี 2560 และอยู่ระหว่างเจรจาปรับลดราคา LNG ให้สะท้อนราคาตลาด LNG มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากการปรับแก้สูตรราคาและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในร่างสัญญา LNG SPA แล้วเสร็จ ปตท. จะรายงานกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอ กพช. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการลงนามสัญญาทั้ง 2 ฉบับ อีกครั้ง

นอกจากนี้กพช.ยังได้พิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำมันปาล์มในกิจการพลังงาน ซึ่งจากจากข้อเสนอเชิงนโยบายของกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ในการแก้ไขปัญหาผลผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ ที่ขอให้กฟผ. ใช้น้ำมันปาล์มดิบทดแทนน้ำมันเตาในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เป็นเดือนละ 10,000 ตัน โดยดำเนินการ 8 เดือนติดต่อกัน ซึ่งที่ประชุม กพช.เห็นชอบในหลักการสำหรับการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบเพื่อนำมาผสมกับน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ในปริมาณการรับซื้อที่เหมาะสมเป็นคราว ๆ ไป เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

โดยพิจารณาจากปริมาณสต๊อกและราคาน้ำมันปาล์มดิบประกอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าและเป็นภาระต่อประชาชน พร้อมมอบหมายให้ กบง. เป็นผู้พิจารณาการรับซื้อ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐในสูตรการปรับอัตราค่า Ft และให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำกับดูแลการดำเนินงาน โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ

ส่วนการที่จะให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซล เป็น 14 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 2579 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP 2015) และเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มในน้ำมันไบโอดีเซลสำหรับรถยนต์ชนิดต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งที่ประชุม กพช. ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล โดยให้ดำเนินการผลิตไบโอดีเซลที่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพแล้วในเชิงพาณิชย์ พร้อมนำร่องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ในรถของหน่วยงานราชการ/ทหาร/เอกชนก่อนผลักดันให้เกิดการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกอย่างเป็นรูปธรรม ภายในเดือนพฤษภาคม 2560

ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผน AEDP 2015 โดยให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเอทานอลและไบโอดีเซล เป็นผู้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล และรายงานให้ กบง. ทราบเป็นระยะ

Back to top button