FER เชื่อปีนี้พลิกกำไร คาดสรุป 3 ดีลซื้อโรงไฟฟ้ารวม 14 MW ภายในปี
FER เชื่อปีนี้พลิกกำไร คาดสรุป 3 ดีลซื้อโรงไฟฟ้ารวม 14 MW ภายในปี
นายประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟอร์รั่ม จำกัด (มหาชน) หรือ FER คาดว่าปีนี้จะพลิกมีกำไรสุทธิ จากที่ขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง หลังจากที่ล้างบ้านเดิมในปีที่ผ่านมา และหันรุกเข้าสู่การลงทุนในธุรกิจพลังงาน ซึ่งล่าสุดมีทั้งการเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้า และยื่นข้อเสนอสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม
โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อซื้อโรงไฟฟ้ารวม 20 เมกะวัตต์ (MW) ส่วนใหญ่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปได้ในปีนี้จำนวน 3 ดีล รวม 14 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ยังเตรียมยื่นเสนอประมูลสร้างและขายไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 5 เมกะวัตต์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำลังจะเปิดรับยื่นข้อเสนอในกลางเดือนมิ.ย.นี้ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 400-500 ล้านบาท รวมถึงเตรียมยื่นเสนอตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 8 เมกะวัตต์ ในจังหวัดเชียงใหม่ด้วย ซึ่งล่าสุดจีนได้เสนอที่จะมีความร่วมมือระหว่างกันในด้านเงินทุนและเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มเติมด้วย
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า บริษัทจะรับรู้รายได้จากธุรกิจพลังงานในปีนี้เป็นปีแรก หลังจากบริหารจัดการธุรกิจเดิมเสร็จสิ้น ที่เชื่อว่าปีนี้จะพลิกมีกำไรสุทธิ โดยรายได้หลักจะมาจากโรงไฟฟ้าพระแสง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรก ที่บริษัทเข้าถือหุ้น 60% ขนาด 2 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ให้กับบริษัทไม่ต่ำกว่า 15% หลังจากที่เริ่ม COD ตั้งแต่เดือนเม.ย.59 ที่ผ่านมา
ขณะที่บริษัทได้เข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าขยะ ขนาด 8 เมกะวัตต์ ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะยื่นเสนอขอขายไฟฟ้ากับทางการในเร็ว ๆ นี้ โดยขณะนี้มีความพร้อมในด้านวัตถุดิบขยะ ที่จะป้อนให้กับโรงไฟฟ้ามากกว่า 1 ล้านตัน/วัน และอยู่ระหว่างการประเมินเงินลงทุน หลังจากพันธมิตรจีนยื่นข้อเสนอให้ความร่วมมือหลายรูปแบบทั้งด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการก่อสร้าง ซึ่งบริษัทจะนำเข้าเสนอมาพิจารณาเพื่อเลือกแนวทางที่ดีที่สุด
ขณะเดียวกันก็จะบริหารจัดการด้านการเงินของบริษัท หลังจากมีทีมงานมืออาชีพเข้ามาร่วมงาน เนื่องจากธุรกิจเดิมยังมีภาระขาดทุน และหนี้สิน ซึ่งอาจจะต้องรีไฟแนนซ์ เพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจเดินต่อไป
นางชุตินันท์ กิจสำเร็จ กรรมการ ของ FER และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟอร์รั่ม เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (FER-EN) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม และการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยเร็ว ๆ นี้จะยื่นเสนอสร้างและขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขยะ ขนาด 8 เมกะวัตต์ ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังไม่ได้สรุปเงินลงทุนเพราะต้องพิจารณาจากเทคโนโลยีที่จะเลือกใช้ ซึ่งขณะนี้มีหลากหลาย นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอจากจีนมาให้พิจารณาถึงความร่วมมือระหว่างกัน โดยหากสามารถ synergy กันได้ก็อาจให้จีนเข้าร่วมลงทุนด้วย แต่เบื้องต้นบริษัทยังคาดว่าจะสามารถลงทุนเองได้
นอกจากนั้น บริษัทก็จะยื่นประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 5 เมกะวัตต์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 400-500 ล้านบาท ส่วนดีลซื้อกิจการที่อยู่ระหว่างการเจรจามีทั้งหมด 20 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าในประเทศทั้งหมดทั้งชีวมวลและชีวภาพที่ส่วนใหญ่ COD แล้ว ก็จะทำให้สามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันที คาดว่าในเดือนก.ย.นี้จะสรุปได้อย่างน้อย 3 ดีล ขนาด 8 เมกะวัตต์ ,4 เมกะวัตต์ และ 2 เมกะวัตต์ รวม 14 เมกะวัตต์
พร้อมกันนี้ บริษัทยังสนใจจะยื่นประมูลในโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรที่รัฐบาลมีแผนจะเปิดรับซื้อในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า จากก่อนหน้านี้เคยลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) กับหน่วยงานราชการเพื่อจะเข้าร่วมเสนอขายไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว แต่ช่วงที่ผ่านมาน่วยราชการยังติดปัญหาหลายด้าน ทำให้รัฐบาลเลื่อนการรับซื้อไฟฟ้าประเภทโซลาร์ฟาร์มจากหน่วยงานราชการออกไปก่อน
นางชุตินันท์ กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมในการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะด้านเงินทุนซึ่งขณะนี้มีเงินสดราว 500 ล้านบาท และยังมีความสามารถที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ เพื่อระดมทุนเข้ามาเพิ่มเติมอีกได้ ขณะที่นโยบายการลงทุนด้านพลังงานของบริษัทจะคำนึงถึงความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ โดยขณะนี้ยังโฟกัสการลงทุนในประเทศเป็นหลัก แต่กระจายไปทุกกลุ่มของพลังงานทดแทน ตลอดจนกระจายความเสี่ยงในด้านพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าในหลายเขตทั่วประเทศ
ในด้านวัตถุดิบก็จะทำให้มีความหลากหลาย เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล ก็จะใช้วัตถุดิบจากไม้สับ เปลือกไม้ยูคาลิปตัส ไม้ยาง ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ก็จะใช้น้ำเสียจากโรงหีบปาล์ม ของเสียจากโรงงานน้ำตาล เป็นต้น รวมถึงอาจจะเปิดโอกาสให้เจ้าของวัตถุดิบเข้ามาร่วมลงทุนด้วยเพื่อความมั่นคงของด้านวัตถุดิบ แม้บริษัทจะมีความพร้อมลงทุนเองก็ตาม