POLAR ให้รายย่อยขึ้นนั่งบอร์ด หลังไม่ไว้ใจตัวแทน “กลุ่มสมาคมผู้ถือหุ้นไทย”

POLAR เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย 2 ราย เป็นตัวแทนเข้าเป็นกรรมการ หลังที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้ตัวแทนจาก "กลุ่มสมาคมผู้ถือหุ้นไทย" สอบตก เนื่องจากไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล-สงสัยในเจตนาแอบแฝง


บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ POLAR ระบุว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้น POLAR ให้รายชื่อ 2 รายที่ถูกส่งมาเป็นกรรมการ โดย “กลุ่มสมาคมผู้ถือหุ้นไทย” สอบตก เนื่องจากไม่ยึดหลักธรรมาภิบาล อีกทั้งยังตั้งชื่อใกล้เคียงกับ “สมาคมส่งเสริมนักลงทุนไทย” ทำให้ผู้ถือหุ้นบางรายสับสนและเข้าใจผิด ขอรับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้นรายย่อยเพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยเสนอตัวแทนในกลุ่มมาเป็นกรรมการ ขาดซึ่งคุณสมบัติ และเคยถูกจับกุมคดีเช็ค วอนผู้ถือหุ้นไตร่ตรองก่อนมอบอำนาจให้สมาคมหรือบุคคลที่ไร้ธรรมาภิบาล และขาดประวัติความน่าเชื่อถือ

โดยจากการเฝ้าสังเกตการณ์การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 (ต่อเนื่อง) ของ POLAR ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2559 เวลา 09.00 น. ที่ผ่านมานั้น ในช่วงเริ่มต้นการประชุมได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์คนที่อ้างตนว่าเป็นตัวแทน “กลุ่มสมาคมผู้ถือหุ้นไทย” ที่เพิ่งจดทะเบียนเป็นสมาคมเมื่อปี 2557 ซึ่งมีชื่อคล้ายกับ “สมาคมส่งเสริมนักลงทุนไทย” ที่จดทะเบียนเป็นสมาคมตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2532  ได้พยายามก่อไม่ความสงบ อาทิเช่น การออกใบปลิวยกเมฆทำลายชื่อเสียงบริษัท

อีกทั้งพยายามเรียกร้องนำพากลุ่มคนและชายฉกรรจ์ที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นเข้าห้องประชุม ,การเรียกร้องให้ใช้ขั้นตอนปฏิบัติและวิธีการลงคะแนน ที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย และส่งเสียงดังหยาบคาย เพื่อให้ไม่สามารถดำเนินการประชุมตามวาระต่างๆ ที่กำหนดไว้ จนบางครั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ต้องเข้าระงับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งในท้ายที่สุดประธานกรรมการบริษัท ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมได้ใช้ความอดทนชี้แจงทั้งด้านเหตุผล และข้อกฎหมายต่างๆ ทำให้สามารถดำเนินการประชุมต่อไปได้ และไม่อนุญาตให้บุคคลที่มิใช่ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมด้วย

โดยผลการประชุมได้ดำเนินการไปตามวาระต่างๆ ที่กำหนดและได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ยกเว้นวาระพิจารณาค่าตอบแทนกรรมการ เนื่องจากมีตัวแทนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยเสนอมาใหม่ 2 ราย คือ 1) นายชิตภณ วรอัตรกุล และ 2) นายนพดล แจ้งแสง จึงเห็นควรพิจารณาใหม่อีกครั้ง สำหรับวาระพิจารณาอนุมัติเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระและแต่งตั้งกรรมการใหม่นั้น ในระหว่างการพิจารณาวาระอนุมัติแต่งตั้งกรรมการใหม่เข้าแทนกรรมการซึ่งออกจากตำแหน่งตามวาระ ตัวแทนสมาคมผู้ถือหุ้นไทย

อนึ่งนายเจริญ ตั้งสิริวงศ์ นายณรงชัย สิมะโรจน์ และนายอรรถพล อุดมวณิช  ได้เสนอตัวแทนกรรมการ 2 คนคือ 1) นายไกรวัลย์ คทวณิช อายุ 37 ปี  2) นายอุรุชา จันทร์หง่อม อายุ 35 ปี โดยประธานในที่ประชุมได้ชี้แจงว่า บริษัทได้แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2559 เพื่อขอให้ผู้ถือหุ้นเสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติเข้ามาเป็นกรรมการ ในระยะเวลาที่กำหนดก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว ตามหลักธรรมาภิบาลที่ควรแจ้งสารสนเทศให้ชัดเจนกับผู้ถือหุ้นทุกรายก่อนประชุม แต่กลุ่มนายอรรถพล นายณรงค์ชัย และนายเจริญ แสดงอาการก้าวร้าว ตะแบงว่าตนเองเล่นอินเตอร์เน็ตไม่เป็น จึงไม่ได้ทำตามขั้นตอน และจะเสนอกรรมการในระหว่างที่ประชุมขณะนี้เลย  และไม่สนใจหลักธรรมาภิบาล และกติกา ใดๆทั้งสิ้น ประธานในที่ประชุม จึงอนุญาติเพราะไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่เลือกตัวแทนจากสมาคมผู้ถือหุ้นไทย 2 คนนี้ เพราะสงสัยในเจตนาแอบแฝง

สรุปผลการลงคะแนนปรากฎว่าบุคคลที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท มีดังนี้ 1) นายพูนศักดิ์ ชุมช่วย 2) นายสมชัย  ศุภกิจเจริญ 3) นายชิตภณ วรอัตรกุล และ 4) นายนพดล แจ้งแสง ทั้งนี้ ท่านที่ 3 และ 4 เป็นกรรมการที่มาจากการเสนอชื่อจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายใหม่ที่ดี ที่มีตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยเข้ามาร่วมบริหารงานด้วย

ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการลงคะแนนให้เป็นกรรมการ คือ 1) นายไกรวัลย์ คทวณิช 2) นายอุรุชา จันทร์หง่อม เสนอและรับรองมาโดย นายเจริญ ตัวแทนสมาคมผู้ถือหุ้นไทย ภายหลังการประชุมกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยบางรายได้หาข้อมูลเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของบุคคลทั้ง 2 ที่สมาคมผู้ถือหุ้นไทย เสนอมา จึงพบว่า นายไกรวัลย์ คทวณิช ได้เคยถูกจับกุมคดีเช็คเด้ง และมีแนวโน้มขาดคุณสมบัติที่จะเข้ามาเป็นกรรมการ

โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยหวังว่าบริษัทหยิบยกกรณีดังกล่าว ส่งร้องเรียนถึง กลต. ตลท. และ “กลุ่มสมาคมส่งเสริมนักลงทุนไทย” ต่อไป ว่าผู้ถือหุ้นควรตรวจสอบให้ถี่ถ้วนก่อนมอบอำนาจให้ใครมาประชุมไม่ว่าจะเป็นสมาคม ว่าเป็นสมาคมอะไร มีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน หรือตัวบุคคลเพราะมีคนบางกลุ่มที่เอาสิทธิและเสียงที่ได้รับมอบอำนาจมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว และในกรณีนี้ถือว่าสมาคมผู้ถือหุ้นไทย ขาดความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรงไร้ซึ่งธรรมาภิบาล เอารัดเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยที่วางใจให้เป็นตัวแทนมา

Back to top button