THCOM วอนรัฐชัดเจนแนวทางธุรกิจดาวเทียม ชี้การเพิ่มค่าธรรมเนียมกระทบเอกชน
THCOM วอนรัฐชัดเจนแนวทางธุรกิจดาวเทียม หลัง กสทช. เล็งนำดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 กลับสู่กระบบสัมปทาน ชี้การเพิ่มค่าธรรมเนียมต้องคำนึงถึงเอกชนได้รับอนุญาตและลงทุนไปแล้ว
นายไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางกำกับกิจการดาวเทียมสื่อสารของภาครัฐ และใบอนุญาตดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ทางไทยคมเห็นว่า ดาวเทียมสื่อสาร ที่ไทยคมดำเนินกิจการอยู่นั้น ถือเป็นหนึ่งในโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานที่มีความสำคัญ มีความจำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และยังเป็นโครงข่ายที่ไปให้บริการในต่างประเทศ ถือเป็นธุรกิจที่สามารถนำเงินตราเข้าประเทศ สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ
โดยดาวเทียมที่ไทยคมให้บริการอยู่ในปัจจุบันมีดาวเทียมไทยคม 4,5 และ 6 ซึ่งให้บริการอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน ซึ่งยังคงให้บริการต่อไปตามเงื่อนไขเดิมของสัญญาปัจจุบันจนถึงปี 2564 ส่วนดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 นั้น เป็นดาวเทียมดวงใหม่ที่ทางไทยคมได้ขออนุญาตและได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามระบบใบอนุญาต แยกต่างหากออกจากระบบสัมปทานเดิม ซึ่งในการออกใบอนุญาตของกสทช. นั้น ทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ก็ได้อนุมัติให้ใช้วงโคจรดาวเทียมมายัง กสทช. เพื่อประกอบการอนุญาตดังกล่าวแล้วด้วย
สำหรับข้อกำหนดต่างๆ รวมทั้งค่าธรรมเนียมของดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 เป็นไปข้อกำหนดของกฎหมาย ที่กำหนดให้เปลี่ยนแปลงจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบใบอนุญาต โดยค่าธรรมเนียมลดลงจากระบบสัมปทาน ซึ่งการที่ค่าธรรมเนียมลดลงนั้น ก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะสนับสนุนให้กิจการโทรคมนาคมรวมทั้งดาวเทียมเข้าสู่ระบบใบอนุญาต มีต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ลดลง เพื่อให้แข่งขันได้เป็นประโยชน์ระยะยาว
ดังนั้น หากภาครัฐต้องการจะมีเงื่อนไขหรือคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมในส่วนของดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ก็ควรจะคำนึงถึงผลกระทบต่อภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาตและลงทุนดำเนินโครงการไปแล้ว
นอกจากนี้ในการพิจารณาและการกำหนดนโยบายและค่าธรรมเนียมของภาครัฐ ไทยคมอยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญในการคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันของเอกชนไทยในระยะยาว อยากให้พิจารณาเทียบเคียงกับแนวทางการกำกับดูแลและค่าธรรมเนียมของต่างประเทศด้วย เพราะสภาพการแข่งขันในธุรกิจดาวเทียมทั่วโลกนั้นสูงมาก หากดาวเทียมไทยมีต้นทุนที่สูงกว่าดาวเทียมต่างชาติก็จะแข่งขันได้ยาก ซึ่งในตอนนี้ เฉพาะค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของ กสทช. ก็สูงกว่าค่าธรรมเนียมของต่างประเทศมากอยู่แล้ว
พร้อมกันนี้ต้องการภาครัฐมีแนวทางที่ชัดเจนในการกำกับให้การแข่งขันในประเทศไทยเองให้มีความเป็นธรรม เพราะในปัจจุบัน มีผู้ให้บริการดาวเทียมต่างชาติ เข้ามาให้บริการในประเทศไทยโดยไม่ได้ขอใบอนุญาต ไม่ได้ถูกกำกับดูแล ไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียม อยากให้ภาครัฐมีแนวทางการกำกับดูแลให้ทุก ๆ รายแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียมกัน และรัฐจะได้ไม่เสียผลประโยชน์ด้วย
ทั้งนี้ไทยคมต้องการให้ภาครัฐมีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายและหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับดาวเทียมโดยเร็ว เพื่อให้กิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ มีดาวเทียมเพิ่มเติมให้บริการกับคนไทย และแข่งขันกับต่างชาติได้ ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน โดยทางไทยคมยินดีให้ความร่วมมือในการเข้าไปชี้แจงให้ข้อมูลและหารือกับหน่วยงานภาครัฐ และหากมีสิ่งใดที่ไทยคมสามารถดำเนินการเพื่อประโยชน์กับภาครัฐและเอกชนในระยะยาวได้ ไทยคมก็ยินดีพิจารณา