จับตา! “วิน”นั่งบริหาร บล.เคทีบี-ดันเข้าตลาดใน 3 ปี ปั้นผลงานปีนี้เทิร์นอะราวนด์

จับตา! "วิน"คุมบังเหียน บล.เคทีบี-ดันเข้าตลาดใน 3 ปี ปั้นผลงานปีนี้เทิร์นอะราวนด์


บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ KTBST ระบุว่า บริษัทได้เปิดตัวนายวิน อุดมรัชตวนิชย์ เป็นประธานกรรมการบริหารคนใหม่ หลังย้ายข้ามห้วยจาก บลจ.วรรณ เข้ามารับตำแหน่งเมื่อ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกับเข้าถือหุ้นใน KTBST สัดส่วน 25% ส่วนที่เหลืออีก 75% เป็นของบริษัท เคทีบี อินเวสต์เมนท์ แอนด์ ซิคิวริตี้ บริษัทแม่

โดยประเดิมผลงานชิ้นแรกเตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่พักใบอนุญาตที่ปรึกษาทางการ ก่อนผลักดันบริษัทเติบโตและไปสู่เป้าหมายการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯใน 3-5 ปี

นายวิน กล่าวว่า เหตุผลที่เข้ามาบริหารงานธุรกิจโบรกเกอร์จากเดิมที่เคยเป็นผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพราะมองว่าธุรกิจโบรกเกอร์ยังมีโอกาสที่เติบโตได้อย่างมากในอนาคต และมีนักลงทุนเพิ่มมากขึ้นจากการมองหาช่องทางที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนดี อีกทั้ง ยังมีผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่ต้องการระดมเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะเข้ามาบริหารงานบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)

ทั้งนี้ KTBST ถือเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ดำเนินธุรกิจหลากหลาย นอกเหนือจากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งยังมีธุรกิจอื่น ๆ อย่างเช่น การลงทุนในต่างประเทศ และกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ลงทุนได้รู้จักเครื่องมือการลงทุนต่าง ๆ มากขึ้น

ปัจจุบัน KTBST มีทั้งหมด 8 ธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจเวลท์แมเนจเม้นท์ 2.ธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) 3.ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 4.ธุรกิจจัดการกองทุนรวม 5.ธุรกิจให้บริการการจัดการและการลงทุนสินทรัพย์ในต่างประเทศ 6.ธุรกิจด้านงานวาณิชธนกิจ 7.ธุรกิจเกี่ยวกับงานวิจัย และ 8.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำ Fintech เข้ามาประยุกต์ใช้ในการลงทุน

นายวิน กล่าวอีกว่า หลังจากเข้ามารับตำแหน่งใน KTBST จะมีการเปลี่ยนแปลงการให้บริการที่ครบวงจรมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน แต่การดำเนินธุรกิจของ KTBST จะไม่เน้นการแข่งขันด้านราคา แต่จะเน้นบริการที่มีคุณภาพ ทั้งด้านความรู้ของบุคคลากร คุณภาพของฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน เทคโนโลยีที่ทันสมัยให้นักลงทุนได้เข้าถึงการลงทุนอย่างสะดวกรวดเร็ว โดยการนำธุรกิจ Fintech เข้ามาประยุกต์ใช้ให้การบริการมีคุณภาพที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจพิเศษที่ให้บริการการลงทุนตามหลักศาสนาอิสลามภายใต้ชื่อ “KTBST Islamic Wealth Management” เพื่อรองรับนักลงทุนมุสลิมในไทยที่ต้องการลงทุนให้ถูกต้องตามหลักศาสนา โดยประเทศไทยมีประชากรมุสลิมจำนวนราว 12 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ที่มีเงินออมและการลงทุนราว 2 ล้านคนทั่วประเทศ คาดหวังว่าน่าจะเป็นอีกกลุ่มลูกค้าหนึ่งที่จะมีการเติบโตในอนาคตได้

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานของ KTBST คาดว่าในครึ่งปีหลังของปีนี้จะสามารถพลิกกลับมามีกำไรหลังจากปี 58 ขาดทุน 34 ล้านบาท และคาดว่ารายได้ในปีนี้จะอยู่ที่ 400-450 ล้านบาท หรือเติบโต 20-30% จากปีก่อนที่มีรายได้ 320 ล้านบาท

เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชั่น) เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะลูกค้าใหม่ที่เข้ามาส่วนใหญ่เน้นเรื่องการให้บริการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของบทวิเคราะห์ โดยปัจจุบันค่าคอมมิชชั่นของ KTBST อยู่ที่ 0.127% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 0.10% และตั้งเป้าหมายคอมมิชชั่นในสิ้นปีนี้จะปรับตัวเพิ่มเป็น 0.15%

ขณะที่ส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของ KTBST ในสิ้นปี 60 มีเป้าหมายเพิ่มเป็น 2-2.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.2-1.2% โดยมีบัญชีลูกค้าจำนวน 20,000 บัญชี ซึ่งเป็นลูกค้าที่มีคำสั่งซื้อขายอย่างสม่ำเสมอจำนวน (Active) 5,000 บัญชี พร้อมทั้ง ตั้งเป้าสิ้นปีนี้จะเพิ่มสัดส่วนลูกค้าสถาบันเป็น 20% จากพันธมิตร คือ เคทีบี กรุ๊ป เกาหลีใต้ เข้ามาช่วยเสริม และจะลดสัดส่วนลูกค้ารายย่อยเหลือ 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 80% และลูกค้า Hi-networth จะเพิ่มเพียงเล็กน้อยเป็น 30% จาก 20%

หลังจากการปรับสัดส่วนลูกค้าแล้วคาดว่า KTBST จะมีบัญชีที่มีการซื้อขายอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น และบริษัทจะเสริมด้วยการให้บริการอื่นเพิ่มเติมในไตรมาส 3/59 จะเปิดให้บริการการให้คำแนะนำซื้อขายและการให้บริการซื้อขายหุ้นในต่างประเทศ และในไตรมาส 4/59 จะเปิดให้บริการซื้อขายผ่านระบบ ALGO-Trading

ส่วนธุรกิจบริหารจัดการการลงทุนด้านการจัดการกองทุนตั้งเป้า มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ภายในสิ้นปี 59 ที่ 2 พันล้านบาท หลังจากเปิดให้บริการในส่วนของกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ไปเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 59 ซึ่งมี AUM ถึงปัจจุบันอยู่ที่ 1 พันล้านบาท

นายวิน กล่าวว่า ในวันที่ 8 ก.ค.นี้ บริษัทจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งของ ก.ล.ต.ที่พักการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) และการทำหน้าที่ผู้ควบคุมการปฏิบัติงานที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) ของบริษัทเป็นเวลา 2 ปี

นาววิน กล่าวว่า บริษัทยอมรับว่าการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดจากความไม่รอบคอบในการดำเนินงานจากทีมผู้บริหารเดิม ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ แต่ปัจจุบันผู้บริหารและทีมงานชุดเก่าพ้นหน้าที่จาก KTBST ไปแล้ว และปัจจุบัน KTBST ได้ปรับทีมผู้บริหารและระบบการทำงานใหม่ที่ดีขึ้น จึงหวังว่า ก.ล.ต.จะพิจารณาลดโทษให้กับ KTBST แต่คงไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการอุธรณ์ โดยหวังว่าอาจจะได้รับการลดโทษเหลือแค่ 6 เดือน จาก 2 ปี

อย่างไรก็ตาม คำสั่งของ ก.ล.ต.ยังไม่ได้มีผลกระทบต่อบริษัท โดยปัจจุบัน KTBST มีงานที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง SET และ mai ทั้งหมด 8 บริษัท โดยแบ่งเป็นการเข้าจดทะเบียนในปี 60 จำนวน 4 บริษัท ซึ่งจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ทั้งหมด ประกอบด้วย ธุรกิจขนส่ง โรงพยาบาลขนาดเล็ก ธุรกิจยา และค้าปลีก และในปี 61 จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนอีก 4 บริษัท แบ่งเป็นเข้า SET จำนวน 2 บริษัท และที่เหลือเข้า mai  โดยมีธุรกิจพลังงานทางเลือก 2 บริษัท 

Back to top button