พาราสาวะถี อรชุน
ปมท่านผู้นำพูดว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเองถ้าร่างฉบับมีชัยไม่ผ่านประชามติ ไม่ว่าจะเป็นการพูดเล่นหรือเปรียบเปรยเป็นการเทศน์แบบคาบลูกคาบดอก ถูกตอกหน้าสอนโดยทหารหญิงที่มียศร้อยโท สุนิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกรัฐบาลว่า โดยสถานะแล้วไม่เหมาะสม และยิ่งเป็นเรื่องสำคัญด้วยแล้วยิ่งไม่สมควรนำมาพูดทีเล่นทีจริง
ปมท่านผู้นำพูดว่าจะร่างรัฐธรรมนูญเองถ้าร่างฉบับมีชัยไม่ผ่านประชามติ ไม่ว่าจะเป็นการพูดเล่นหรือเปรียบเปรยเป็นการเทศน์แบบคาบลูกคาบดอก ถูกตอกหน้าสอนโดยทหารหญิงที่มียศร้อยโท สุนิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกรัฐบาลว่า โดยสถานะแล้วไม่เหมาะสม และยิ่งเป็นเรื่องสำคัญด้วยแล้วยิ่งไม่สมควรนำมาพูดทีเล่นทีจริง
ยังดีที่ว่า วิษณุ เครืองาม ไม่ได้เห็นเป็นเรื่องล้อเล่นด้วย จึงประกาศความชัดเจนมาแล้วว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ทันทีที่ทราบผลประชามติ เพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ยังตอบไม่ได้ว่าใครจะเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ ที่แน่ๆ คนกลุ่มหนึ่งจะไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมนั่นก็คือนักการเมือง
หากต้องเดินทางไปถึงจุดนั้น คงต้องบอกว่าตัวอย่างของคณะร่างรัฐธรรมนูญ 2 ชุดจากเนติบริกรน้องสุดท้อง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จนถึงเนติบริกรชั้นซือแป๋ มีชัย ฤชุพันธุ์ สิ่งที่สัมผัสได้คือการไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่เปิดกว้างรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง นั่นจึงนำมาซึ่งการไม่ยอมรับ ไม่ใช่เพราะเกิดจากการชี้นำของฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด
สิ่งที่ผู้มีอำนาจควรใส่ใจคือ ร่างรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การที่ปากบอกว่าประเทศเป็นประชาธิปไตย 99.99 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ควรจะเห็นภาพของทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการเขียนกฎหมายสูงสุดที่จะต้องมาใช้บังคับกับคนไทยโดยทั่วถึงกัน ไม่ใช่ไปกอดหรือหวงไว้ว่ากฎหมายฉบับนั้นฉบับนี้เป็นของตนเอง
โดยความเป็นจริงแล้วหากมีความคิดว่ากฎหมายฉบับนั้นฉบับนี้เป็นของใคร ย่อมไม่ใช่กฎหมายเป็นได้แค่กฎของกูหรือกฎส่วนตัว เพื่อจะค้ำยันการอยู่ในตำแหน่งหรืออำนาจของคนคนนั้นเท่านั้น หากละทิ้งการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหรือการมีอำนาจอันทรงพลังของตัวเองได้ แล้วหันไปมองในโลกแห่งความเป็นจริง ย่อมจะพบในสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นถามว่ากระบวนการยุติธรรมทั้งจากกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระมีปัญหาใช่หรือไม่ เรื่องนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะตอบคำถามได้ มิเช่นนั้น คงไม่มีประกาศคสช.ฉบับที่ 63/2557 ออกมา ถ้าจำกันไม่ได้ขอยกมาบอกกล่าวกันอีกครั้ง ประกาศฉบับนี้เรื่อง นโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ
เนื้อหาของประกาศดังกล่าวโดยสรุปคือ การดำเนินคดีต่างๆ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาและการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมว่า มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมเกิดขึ้นและอาจมีเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต
ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมของรัฐดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวดเร็ว เป็นธรรมแก่ประชาชน และเพื่อให้ประชาชนและนานาประเทศเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย คสช.ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า คสช.มีนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐว่า ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายทั่วถึง โดยเสมอภาคและเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม
องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นศาล คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ องค์กรอิสระอื่นๆ อัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ รวมทั้งหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม
ขอให้ยึดมั่นในการปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรม และมีบรรทัดฐานที่ชัดเจนในการดำเนินคดีตามประเภทคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ซึ่งสาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดๆ ที่อาจมีผลทำให้เกิดความเข้าใจแก่สาธารณชนในการบังคับใช้กฎหมาย อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ในวรรคท้ายของประกาศคสช.ฉบับนี้ชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดคำถามตามมามากมายในการบังคับใช้กฎหมายของฝ่ายปฏิบัติ โดยเฉพาะกรณีล่าสุดกับการจับกุม 13 นักศึกษาและนักเคลื่อนไหวในคดีแจกเอกสารเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ และการจับกุม 4 นักศึกษา 1 นักข่าวกับข้อหาผิดมาตรา 61 วรรค 2 ของกฎหมายประชามติ ทั้งๆ ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเอกสารที่อยู่ในครอบครองและไม่ได้แจกจ่ายมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่
พฤติกรรมในลักษณะอย่างนี้นี่เอง หากย้อนกลับไปดูบทความของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ น่าจะเป็นคำอธิบายได้อย่างชัดเจน การจับกุมคุมขังนักศึกษาและนักกิจกรรมในห้วงเวลาก่อนการประชามติ พวกเขาผิดอะไร พวกเขาสมควรถูกคุมขังจองจำหรือไม่ และพวกเขาคือใคร มีสถานะอะไรในทางการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านของประเทศนี้
ทั้งที่ ทั้งหมดใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อสร้างบรรยากาศการลงประชามติครั้งนี้อย่างเสรี เป็นธรรม และมีความหมายกับทุกคนในสังคม แต่กลับทำไม่ได้เพราะฝ่าฝืนคำสั่งของคสช.ที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ โดยเฉพาะการรวมตัวที่ถือว่าขัดต่อความมั่นคง ทั้งที่ไม่เข้าข่ายการปลุกระดมหรือมีเหตุจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลังเลย จึงต้องถามว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ถูกจับไม่ใช่อาชญากรแต่เป็นนักโทษการเมืองหรือนักโทษทางความคิด ที่ถูกจับโดยกฎหมายที่เขียนขึ้นมาใหม่โดยคณะรัฐประหาร ไม่ใช่กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนอันเป็นเจ้าของและเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตย ที่สำคัญกฎหมายที่นำมาใช้จัดการกับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลหรือทิศทางที่รัฐบาลต้องการให้เป็นนั้นเป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักการที่ยึดถือปฏิบัติกัน ดังนั้น กฎหมายใดที่ขัดกับหลักการส่งเสริมให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของหรือเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตยก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังยิ่ง
บททิ้งท้ายของพิชญ์น่าจะเป็นบทสรุปที่ผู้มีอำนาจต้องฟังและนำไปปฏิบัติ ผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังและดำเนินคดีเหล่านี้เป็นนักโทษทางการเมือง ไม่ใช่นักโทษตามกฎหมายปรกติ ทั้งยังเป็นการเมืองของฝ่ายผู้มีอำนาจที่กำหนดนิยามลงมาเอง การแก้ปัญหาคดีความทางการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องที่จะเพิกเฉยและปล่อยให้ดำเนินต่อไปภายใต้ข้ออ้างว่าเป็นการบังคับใช้ตามกฎหมายปกติ เพราะคดีความทางการเมืองเกี่ยวเนื่องกับปัญหาความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ประเด็นที่ท้าทายยิ่งขณะนี้คือ เราจะทำอย่างไรให้ฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกับเราอยู่ร่วมกันกับเราได้