พาราสาวะถี อรชุน

การโทรศัพท์ไปแจ้งกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสานและกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่อีสาน ไม่ให้ใช้อาคารจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน ตามมาด้วยการเข้าเจรจาขอให้นักศึกษายกเลิกจัดกิจกรรมโดยรองคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ จิรวัฒน์ สนิทชน คงไม่เป็นผลดีต่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้แน่


การโทรศัพท์ไปแจ้งกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่อีสานและกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่อีสาน ไม่ให้ใช้อาคารจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการจัดกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน ตามมาด้วยการเข้าเจรจาขอให้นักศึกษายกเลิกจัดกิจกรรมโดยรองคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ จิรวัฒน์ สนิทชน คงไม่เป็นผลดีต่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้แน่

ยิ่งเหตุผลที่ว่าไม่สามารถให้จัดงานได้เพราะเกรงจะทำให้ภาพลักษณ์ของสถาบันการศึกษาไม่เป็นกลาง ยิ่งฟังดูแล้วเบาหวิวเป็นอย่างมาก หากย้อนกลับไปดูผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยคือ กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย ในฐานะอธิการบดีที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสนช.โดยคสช. และสนช.ก็เป็นผู้ชงคำถามพ่วงให้ส.ว.ลากตั้งร่วมโหวตเลือกนายกฯด้วย ก็น่าจะเห็นคำตอบที่แท้จริงว่าการห้ามนั้นเป็นไปเพื่อความเป็นกลางจริงหรือไม่

นี่แหละที่หลายฝ่ายได้เน้นย้ำกันมาโดยตลอดว่า บทบาทของอธิการบดีของหลายสถาบันอุดมศึกษานั้น หาได้วางตัวเป็นกลางไม่ มิหนำซ้ำ ยังแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเลือกสนับสนุนใคร นับตั้งแต่คราวม็อบกปปส.ชัตดาวน์กรุงเทพฯแล้ว สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนผ่านถ้อยแถลงของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น เลยทำให้ต้องย้อนกลับไปดูบทวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล เกี่ยวกับการเมืองไทยในช่วงก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยเรียกช่วงเวลานี้ว่า “โรงละครของคนบ้า” เทียบเคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วน่าจะเป็นการขยายภาพได้ชัดยิ่งขึ้น โดยสำนักข่าวต่างประเทศดังว่า ให้เหตุผลต่อการเรียกเช่นนั้นไว้อย่างน่าสนใจ

เพราะการควบคุมที่เข้มงวดจากรัฐบาล การจับกุมปราบปรามฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ฝ่ายโหวตโนจำต้องหลบเลี่ยงไปทำกิจกรรมแปลกๆ ที่ดูพิสดาร เพื่อแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญของฝ่ายทหาร นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยใช้วิธีพิสดารบ้าๆ บอๆ มาโดยตลอดในการต่อต้านทหาร และทำให้รัฐบาลทหารดูเป็นตัวตลก ต้องอับอายขายหน้า

ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ 1984 ต่อหน้าตำรวจ ปล่อยลูกโป่งที่แนบการ์ดโหวตโน หรือ การนำเอาของเล่น ตุ๊กตาต่างๆ เช่น ออพติมัส ไพรม์ จากทรานสฟอร์เมอร์ หรือสตาร์ทรูเปอร์จากสตาร์วอร์ส ไปจนถึงคิตตี้ มาถ่ายรูปโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย พร้อมสโลแกนเชิญชวนให้คนโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ล่าสุด พริษ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน คนที่ถูกห้ามร่วมเวทีดีเบตของกกต.ก็จัดกิจกรรมเห็นหมีที่หอศิลป์ ชวนทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นการศึกษา

พอเกิดเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เลยทำให้เกิดคำถามเรื่องปมย้อนแย้งของผู้มีอำนาจอีกว่า ที่โหมประโคมข่าวในช่วงโค้งสุดท้ายจะเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นได้แค่เพียงเวทีลวงโลก คือการจัดตั้งโดยฝ่ายราชการ ไประดมคนที่เห็นด้วยมาเสียส่วนใหญ่ แล้วก็ตั้งข้อจำกัดต่างๆ ไว้มากมาย

หากคิดและทำได้เท่านี้ ยิ่งจะทำให้ขายขี้หน้าฝ่ายที่จับจ้องมองอยู่โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศ เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจ หากไม่ได้สั่งการใดๆ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ควรจะกำชับไปให้หนักแน่นว่า ใครจะจัดเวทีวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญเชิญตามสบาย ขอเพียงแต่อย่าสร้างความวุ่นวายหรือทำให้เกิดความขัดแย้งเท่านั้นก็พอ

ทำไมต้องทำถึงขนาดนั้น เนื่องจากหากท่านผู้นำมีความจริงใจและตั้งใจดีแล้ว แต่ฝ่ายปฏิบัติไปดำเนินการอีกอย่างหนึ่ง คนก็จะได้รู้ว่ามีใครบ้างที่เป็นพวกสอพลอ คนมีอำนาจเด็ดขาดสั่งไปแล้วแต่ยังไม่ทำตาม นั่นเท่ากับว่ากระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา เว้นเสียแต่ว่า จะมีการหลิ่วตาข้างหนึ่งนั่นก็อีกเรื่อง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ใช้วิธีการปิดปากอย่างเดิมจะดีกว่า

เห็นกระบวนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติแล้ว ทำให้ต้องย้อนกลับไปดูคำพูดของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการเรียกร้องให้ทุกคนให้โอกาสและให้กำลังใจท่านผู้นำ ด้วยเหตุผลยอมเหนื่อยและเสียสละ หากไม่อยากให้บ้านเมืองกลับไปเหมือน 2 ปีก่อนเกิดรัฐประหาร ทุกคนต้องมีสติ ไว้เนื้อเชื่อใจกัน และมีศรัทธา คิดถึงบ้านเมืองว่าต้องมาก่อน ส่วนตัวต้องมาทีหลัง

ความเป็นจริงจะเห็นได้ว่า คนส่วนใหญ่นั้นเขาก็ให้โอกาสและไว้เนื้อเชื่อใจกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า มันมีคนของฝ่ายรัฐเองต่างหากที่ไม่ไว้วางใจประชาชน ยังคงมองคนเห็นต่างเป็นศัตรู ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว หากรู้จักแยกแยะ มองเห็นว่าความเห็นต่างแบบไหนที่น่าจะเป็นประโยชน์ ไม่มีอคติ หยิบไปคิดแล้วนำไปแก้ไขน่าจะเกิดประโยชน์กับบ้านเมืองมหาศาล

เหมือนอย่างที่ย้ำมาหลายครั้งหลายหน ประชาชนส่วนใหญ่เขาไม่ได้มืดบอดทางความคิด มิหนำซ้ำ คนยุคดิจิตอลหรือยุคดาวเทียม เขารับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติและรู้จักไตร่ตรอง ดังนั้น เขาย่อมรู้ดีว่า วิกฤติของบ้านเมืองก่อนการรัฐประหารนั้นเป็นวิกฤติแท้หรือวิกฤติเทียม รู้ดีว่าใครหรือกลุ่มใดสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เพื่อเปิดที่เปิดทางให้ใครเข้ามากุมอำนาจ

เช่นเดียวกันกับปมปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ที่ฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลพยายามตอกย้ำ ทำให้เห็นว่า เวลานี้สถานการณ์ดีขึ้น โดยยึดโยงเอาแต่ตัวเลขบางส่วนบางด้านที่ถือว่าสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับรัฐบาลได้ แต่ไม่ได้ยึดเอาข้อเท็จจริงที่ว่า ประชาชนอยู่ดีกินดีแล้วจริงหรือ นี่คือหลักแห่งความเป็นจริง เศรษฐกิจที่กินได้ คนส่วนใหญ่เขาไม่สนใจหรอกว่าจีดีพีจะโตเท่าไหร่ ส่งออกจะกลับมาเป็นบวกแล้วหรือไม่

เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง หากเศรษฐกิจดีจริง วันนี้คนใช้แรงงาน เกษตรกร คนหาเช้ากินค่ำจะต้องกระเป๋าไม่แฟบ ภาวะการจับจ่ายใช้สอยมันจะต้องกระเตื้องขึ้นมาอย่างทันตาเห็น แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่มันกลับตรงข้าม เหล่านี้เฮียกวงในฐานะที่เคยร่วมรัฐบาลไทยรักไทยผู้ที่ถูกให้ร้ายว่าเป็นปีศาจประชานิยมมาแล้ว น่าจะรู้ดีว่า ภาวะที่ประชาชนหน้าชื่นรื่นรมย์นั้นมันเป็นอย่างไร ไม่ใช่ถูกบีบให้มีความสุขแต่เป็นภาวะหน้าชื่นอกตรม

Back to top button