พาราสาวะถี อรชุน

เลี่ยงบาลี ตีกรรเชียงมาตลอด สุดท้ายกรธ.ภายใต้การนำของ มีชัย ฤชุพันธุ์ จะนำพาคณะทั้ง 21 ชีวิตมาตอบคำถามประชาชนในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนลงประชามติคืนนี้ตั้งแต่ 3-5 ทุ่ม ว่ากันยาวๆ 2 ชั่วโมงทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ใช้ชื่อว่าประชาชนถาม-กรธ.ตอบ ใครจะชอบจะด่าไม่ว่ากัน ทำหูทวนลมเสียก็สิ้นเรื่อง


เลี่ยงบาลี ตีกรรเชียงมาตลอด สุดท้ายกรธ.ภายใต้การนำของ มีชัย ฤชุพันธุ์ จะนำพาคณะทั้ง 21 ชีวิตมาตอบคำถามประชาชนในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนลงประชามติคืนนี้ตั้งแต่ 3-5 ทุ่ม ว่ากันยาวๆ 2 ชั่วโมงทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ใช้ชื่อว่าประชาชนถาม-กรธ.ตอบ ใครจะชอบจะด่าไม่ว่ากัน ทำหูทวนลมเสียก็สิ้นเรื่อง

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นกกต.ซึ่งมีอำนาจเต็มตามกฎหมายประชามติ ส่งจดหมายเชิญให้มีชัยนำคณะกรธ.มาร่วมเวทีดีเบตก็ได้รับการปฏิเสธเสียงแข็ง ด้วยวาทกรรมไม่ใช่หน้าที่ที่จะไปโต้แย้งกับใคร จนมีคนค่อนขอดไม่รู้จะกลัวอะไรนักหนา เที่ยวโพนทะนาไปทั่วว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลิศเลอเพอร์เฟค เป็นฉบับปราบโกง แต่กลับบอกปัดที่จะอธิบายกับฝ่ายที่มีความสงสัย

ส่วนการจัดเวทีดังว่าของทีวีสาธารณะ หากเปิดกว้างให้ประชาชนทุกฝ่ายได้ถามอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่กระบวนการจัดตั้งคงได้รับเสียงยกย่องสรรเสริญ แต่หากเป็นได้แค่เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ ก็คงต้องไปถามหาจริยธรรมของผู้บริหารสูงสุดของสถานีว่า ที่ใช้เงินจากภาษีของประเทศไปทำโทรทัศน์นั้น ประโยชน์หลักอยู่ที่ประชาชนหรือเป็นได้แค่ขี้ข้าผู้มีอำนาจเท่านั้น

พอพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับคนดี กับการที่มีความพยายามสร้างวาทกรรมร่างรัฐธรรมนูญปลอม จนเป็นเหตุให้ กล้า สมุทรวานิช เขียนบทความ“โปรดระวังของแท้” มาเสียดสี เพื่อแสดงถึงภัยจากของแท้ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ดีว่า ภัยร้ายของประชาธิปไตยไทย ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญปลอมตามที่แกล้งว่ากัน แต่มาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริงที่มาจากคณะกรรมการร่างชุดเผด็จการของมีชัยนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ จึงได้เขียนบทความตามมาชื่อว่า“โปรดระวังรัฐธรรมนูญของแท้” โดยระบุว่า เมื่อมองไปที่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับของแท้ที่จะนำมาสู่การลงประชามติ จะพบว่า มีประเด็นสำคัญอยู่หลายจุดที่สะท้อนลักษณะอำนาจนิยม แต่ที่อยากจะเล่าถึงในที่นี้คือ เรื่องการให้อำนาจล้นฟ้าแก่ศาลรัฐธรรมนูญ เหนืออำนาจนิติบัญญัติและบริหาร โดยไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน

พร้อมกับยกตัวอย่าง สถานะที่ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นกลไกสูงสุด เช่น สมมติว่าบ้านเมืองเกิดความขัดแย้งทางการเมืองตามแบบประชาธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าบ้านเมืองเกิดวิกฤต แล้วไม่มีมาตราใดในรัฐธรรมนูญจะมาบังคับใช้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ ตามมาตรา 5 ของร่างฉบับมีชัย ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดประชุมประมุขฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ และประธานองค์กรอิสระทั้งหลายเพื่อวินิจฉัย และให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุดมีผลผูกพันทุกองค์กร

อ่านดูแล้วอาจจะไม่แปลก แต่ถ้าพิจารณาจะเห็นว่า เสียงข้างมากของที่ประชุมเพื่อแก้วิกฤตมาจากฝ่ายศาล และคำวินิจฉัยก็มาจากศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง และจากบทเรียนที่ผ่านมาในสังคมไทย จะเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองขั้นวิกฤตนั้นสร้างขึ้นได้ หรือถ้าไม่วิกฤต ศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความให้วิกฤตได้ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญข้อนี้จึงยิ่งใหญ่มาก

ในกรณีที่บ้านเมืองยังไม่เกิดวิกฤต โดยที่รัฐบาลยังบริหารบ้านเมืองปกติ อาจจะมีพวกสลิ่มเสื้อเหลืองบางกลุ่มไม่พอใจนโยบายบางอย่าง หรืออาจเกิดกรณีที่สภายื่นญัตติของแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น แก้ไขให้ยุบทิ้งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น พวกสลิ่มเสื้อเหลืองอาจจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวหาว่า รัฐบาลและสภาใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามมาตรา 49 ของร่างรัฐธรรมนูญมีชัย

ระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนแบบนี้ได้โดยตรง ไม่ต้องมีองค์กรกลั่นกรอง และสามารถใช้อำนาจสั่งให้รัฐบาลหรือรัฐสภาเลิกการดำเนินการเช่นนั้นได้ทันที ดังนั้น ขอเพียงให้มีบุคคลไปยื่น ศาลรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นอำนาจสูงสุด ควบคุมนโยบายของรัฐบาล และควบคุมการออกกฎหมายของสภาหรือฝ่ายบัญญัติได้ทันที

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังทึกทักเอาว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องประกอบด้วยคนดี มีจริยธรรมสูงส่ง จึงกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันเขียน“มาตรฐานทางจริยธรรม” ให้เสร็จภายในหนึ่งปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ โดยมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว มีกรอบความคิดแบบนามธรรม เช่น ระบุว่าต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ

อำนาจในการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ สอดคล้องกับการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐมนตรีคนใดขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 คือ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รัฐมนตรีผู้นั้นก็จะถูกถอดถอนและลงโทษ หมายถึงว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจอย่างมากในการควบคุมชี้เป็นชี้ตายบุคลากรทางการเมือง

สิ่งที่เห็นได้คือ ข้อกล่าวหาเป็นนามธรรม การพิจารณาจากหลักฐานและกระบวนการจึงเป็นการยาก เช่น จะเอาหลักฐานอย่างไรมาพิสูจน์การผิดจริยธรรม การลงโทษหรือไม่ลงโทษจึงขึ้นกับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อกล่าวหาลักษณะนี้ยังมีต่อในมาตรา 144 ที่เสนอว่าส.ส.และส.ว.จะเสนอแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ใช้งบประมาณรายจ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวทำไม่ได้

ถ้าครม.หรือกรรมาธิการมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น การอนุมัติให้กระทำการหรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ก็จะมีความผิดไปด้วย กรณีนี้ก็เช่นกัน มีการใช้ข้อความที่คลุมเครือ เช่น ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม  เพื่อเปิดทางให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจซึ่งส.ส. ส.ว. หรือครม. ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดต้องพ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย

จะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบแบบล้นฟ้า แต่ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า มาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา 3 คน ผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์อีก 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากส่วนราชการอีก 2 คน เท่ากับตุลาการศาลทั้งคณะ มาจากศาลและระบบราชการ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประชาชน นี่เป็นเหตุผลแห่งการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของแท้ฉบับมีชัยของอาจารย์ยิ้ม ส่วนเรายังมีเวลาตัดสินใจกันอีก 2 วันหรือใครจะรอฟังกรธ.แก้ตัว เอ้ย! แก้ต่างกับประชาชนคืนนี้ก่อนก็ลองดู

Back to top button