คณิตศาสตร์ประชามติขี่พายุ ทะลุฟ้า

ลืมอะไรก็ได้ แต่อย่าลืม 7 สิงหาฯนี้ ไปลงประชามติ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญกันนะครับ


ชาญชัย สงวนวงศ์

 

ลืมอะไรก็ได้ แต่อย่าลืม 7 สิงหาฯนี้ ไปลงประชามติ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญกันนะครับ

ถ้าเห็นชอบด้วยกับบทจำกัดอำนาจนักการเมือง และให้อำนาจประชาชนอย่างจำกัด ก็ไปไหวตรับ

แต่ถ้าไม่เห็นชอบด้วยกับการมีส.ว.แต่งตั้ง 250 คน (1 ใน 3 ของรัฐสภา) มีอำนาจล้นฟ้าตั้งแต่เลือกนายกฯ เลือกองค์กรอิสระ ยันถอดถอนรัฐบาลได้ และต้องยอมรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อันมีสถานะเป็นกฎหมาย

ก็ต้องไปโหวต “ไม่รับ”

ผลการตัดสิน คงจะได้วัดกันอย่างเป็นทางการเสียทีว่า รสนิยมคนไทยนั้น ชอบแบบไหนมากกว่ากัน และไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ทั้งสองฝ่ายก็ควรจะให้การยอมรับโดยดุษณี

เสียงส่วนน้อย พึงยอมรับการปกครองของเสียงส่วนใหญ่ และเสียงส่วนใหญ่ก็ต้องให้เกียรติรับฟังความเห็นของเสียงส่วนน้อย

ไม่ใช่ตะบึงตะบันยัดเยียด เอาเสียงส่วนน้อยไปปกครองเสียงส่วนใหญ่เหมือนเช่นที่ผ่านมา

จากบันทึกผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เห็นชอบให้รับ 14.7 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 56.7 และไม่รับ 10.7 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 41.4

จำนวนผู้มาใช้สิทธิประมาณ 26 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 57.6

ความเบี่ยงเบนที่สำคัญจากประชามติคราวนั้นก็คือ คำพูดให้ความหวังว่าให้รับไปก่อน ค่อยแก้ทีหลัง ซึ่งความเป็นจริงภายหลัง ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นกันแล้วว่า แก้ได้ยากมากๆ

ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหัวขาวหัวดำ กลายเป็นคนกะล่อนปลิ้นปล้อนไปหมด

แต่คราวนี้ เรื่องอ่อยเหยื่อพรรค์อย่างว่า คงไม่มีแล้วล่ะ จึงอาจต้องนำสถิติที่ใกล้เคียงที่สุดมาคิดเปรียบเทียบ นั่นคือการเลือกตั้งใหญ่ล่าสุดปี 2544 ซึ่งแบ่งค่ายชัดเจนที่สุดระหว่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย

คะแนนพรรคเพื่อไทยได้ 15.7 ล้านเสียง ส่วนประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเสียง “รับ” ประชามติปี 50 ได้ 11.4 ล้านเสียง

แต่ประชามติหนนี้ คะแนนพรรคเพื่อไทย ที่ยืนข้างฝ่ายไม่รับ อาจจะลดน้อยลงเหลือสัก 15 ล้านเสียง เสียงประชาธิปัตย์ ที่ตัดสินใจโหวตโน อาจจะหดลงมาต่ำครึ่งจากเดิม เหลือแค่ 5.5 ล้านเสียง

รวมแล้วก็ยัง 20.5 ล้านเสียง

เมื่อคิดเทียบกับจำนวนผู้ใช้สิทธิคราวนี้ 50.5 ล้านเสียง ใช้สิทธิกันสักร้อยละ 60 (คงไม่ถึงร้อยละ 70 ที่ตั้งเป้าหรอก) เพราะจำนวนผู้ใช้สิทธิ ยังไงก็น้อยกว่าตอนไปเลือกตั้งอยู่แล้ว

จำนวนผู้ใช้สิทธิคราวนี้ 60% อาจจะแค่ 30 ล้านเสียง ซึ่งเสียงเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์รวมกัน ยังไงก็เกินครึ่ง 50% ไปแล้ว

มองในแง่นี้ ก็มีความสุ่มเสี่ยงอยู่เหมือนกันว่า ประชามติอาจจะไม่ผ่าน

ยิ่งมาดูจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งแยกตามรายภาคคราวนี้

ในจำนวนทั้งสิ้น 50.5 ล้านคน ผู้มีสิทธิภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งมีแนวโน้มจะไม่รับ มีทั้งสิ้น 26,212,358 คน เกินกว่าครึ่งอยู่แล้ว

ภาคกลาง 25 จังหวัด ซึ่งแนวโน้มจะรับมีมากกว่าเล็กน้อย มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ 12,961,686 คน

ภาคใต้ 14 จังหวัด ซึ่งมีแนวโน้มจะรับมากที่สุด ก็มีจำนวนผู้ใช้สิทธิแค่ 6,828,323 คนเท่านั้น และกรุงเทพฯ ซึ่งก็คาดว่าจะอยู่ข้างรับเช่นเดียวกันก็มีแค่ 4,483,075 คน  

สรุปอ่านประชามติจากสูตรคณิตศาสตร์ที่น่าจะมีความเป็นไปได้ ดูแล้วก็ยังสูสีเอาอยู่มาก

มีโอกาสจะชนะ แพ้กันในระดับ 55:45 หรือ 60:40 และใครจะแพ้ใครจะชนะก็ยากเดา

มันก็คงจะเหมือนกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแหละ ใครจะเป็นเทพร่างทำนายอย่างแม่นยำได้

Back to top button