POMPUI กับ นิทานเรื่อง ตาอยู่ แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

นานจนเกือบลืมไปแล้วว่า บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลกระป๋อง ที่ชื่อเสียงเคยโด่งดังจากจังหวัดตรัง บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) หรือ POMPUI ยังเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น


นานจนเกือบลืมไปแล้วว่า บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลกระป๋อง ที่ชื่อเสียงเคยโด่งดังจากจังหวัดตรัง บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) หรือ POMPUI ยังเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น

เหตุผลก็คือ หุ้นถูกคำสั่งหยุดซื้อขายไปนานเกือบ 11 ปี เนื่องจากฐานะการเงินเลวร้ายเรื้อรัง มีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบเรื้อรัง และยังตามมาด้วย “ศึกสายเลือด” ระหว่างคนในตระกูลโตทับเที่ยง อันยืดเยื้อ

ว่าไปแล้ว หากปราศจากความขัดแย้งที่ปะทุถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล หรือ เป็นขาวอื้อฉาวนานๆ ครั้ง คนก็คงลืมไปแล้วว่า บริษัทนี้ยังมีตัวตนอยู่

ข่าวล่าสุด สัปดาห์นี้เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกรณีการเข้าถือหุ้นสามัญของบริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) (POMPUI) จำนวน 12,429,000 หุ้น หรือเท่ากับร้อยละ 24.83 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

การถือหุ้นดังกล่าว ไม่ได้ใช้เงินสด แต่เกิดจากการตีราคามูลค่าของบริษัทต่อหุ้น เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัท ในราคาหุ้นละ 25.00 บาท สูงกว่าราคาพาร์หุ้นละ 10.00 บาท

หุ้น 12.42 ล้านหุ้นที่ KTB เข้าถือ 24.83% ใน POMPUI นั้นคิดเป็นสัดส่วน ไม่เข้าข่ายที่จะต้องรายงานสารสนเทศตามหลักเกณฑ์การได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และไม่เข้าข่ายต้องทำ เทนเดอร์ ออฟเฟอร์

เนื่องจากการเข้าถือหุ้นของ KTB ปรากฏอยู่ในรายงานของ POMPUI ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ที่มีการเพิ่มทุนจำนวนดังกล่าวเพื่อให้ KTB ถือโดยเฉพาะเจาะจง จนทำให้ POMPUI มีทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 50,048,999 หุ้น หรือ 500.49 ล้านบาท

การซื้อหุ้น..แม้จะไม่จ่ายเงินสด…ก็ถือได้ว่าเป็นการได้มาในราคาที่แพงเกินมูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า  มูลค่าตามบุ๊คแวลู ของ POMPUI ล่าสุด ติดลบมากถึงหุ้นละ 6.85 บาท

เท่ากับเป็นการซื้อที่แพงกว่ามูลค่าจริงมากถึง 5 เท่า…แสนจะเป็นเจ้าหนี้ที่เปี่ยมด้วยมุทิตาจิตอย่างยิ่งยวด

แม้จะไม่รู้รายละเอียดอะไรมากนัก แต่หากคนภายนอก จะมีมุมมองว่าการซื้อหุ้นของ KTB ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา…ก็ไม่น่าจะผิดพลาด

อย่างที่รู้กัน POMPUI มีปัญหา 2 ระดับที่ซับซ้อนยุ่งยากต่อการแก้ไข ระดับแรกคือ ฐานะทางการเงินที่เลวร้ายมานานกว่า 11 ปี จนถึงต้องหยุดทำการซื้อขายหุ้น ในระหว่างเข้าสู่กระบวนการรับโครงสร้างหนี้ตามเงื่อนไขของศาลล้มละลายกลาง

ส่วนระดับสองคือ ข้อพิพาทที่จบไม่ลงระหว่างคนในตระกูลโตทับเที่ยง ที่ถือหุ้นร่วมใน บริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด อันเป็นนิติบุคคลที่ถือหุ้นใหญ่สุดของ POMPUI นับแต่เริ่มต้นจดทะเบียนในตลาดมาตั้งแต่ปี  2538

POMPUI เมื่อแรกเข้าตลาด ถือเป็นบริษัทดาวรุ่ง ที่มาจากภาคใต้เลยทีเดียว ราคาหุ้นเคยพุ่งสู่จุดสูงสุดถึง 64.00 บาท แต่หลังจากเผชิญมรสุมสำคัญครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งในปี  2540 ราคาหุ้นก็วิ่งต่ำลงไปที่ระดับ 3.00 บาท ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาครั้งที่สองในช่วงปี 2546 ที่ตลาดหุน้ไทยกลับมาฟื้นตัวรุนแรง  ขึ้นมาถึง 17.60 บาท ทั้งที่ฐานะการเงินเปราะบาง ยังมีขาดทุนสะสมบานเบอะ จนส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ จนถึงขั้นยื่นมอบตัวเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการในปลายปี  2548

ราคาปิดสุดท้ายตอนที่หยุดซื้อขายคือ  2.16 บาท

แม้จะหยุดการซื้อขายนานกว่าเกือบ 11 ปี แต่ POMPUI ก็ยังคงรายงานงบการเงินต่อตลาดและนักลงทุนต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากผลประกอบการ ระหว่างปีละ 1,200-1,500 ล้านบาท แต่ละปีมีกำไรสลับขาดทุน แต่ผลประกอบการงวดไตรมาสแรกของปีนี้ มีรายได้ลดฮวบแค่ 279.03 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5.37 ล้านบาท หรือกำไรต่อหุ้น 0.14 บาท แต่ยังมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบอยู่เล็กน้อย 257.57  ล้านบาท ทำให้ยากที่จะมีคำตอบว่าจะกลับมาซื้อขายอีกครั้งเมื่อใด โดยไม่ต้องพูดถึงการจ่ายปันผล เพราะตัวเลขขาดทุนสะสมยังมีอยู่ 725.15 ล้านบาท

การฟื้นตัวที่ล่าช้า และยังมีหนี้สินตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้อีก 784.45 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภายในครอบครัวที่ “ยุ่งเป็นยุงตีกัน” เนื่องจากข้อพิพาท ระหว่างกลุ่มนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ POMPUI กับคนอื่นๆ ที่ร่วมถือหุ้นใน บริษัท กว้างโฮลดิ้ง จำกัด ถึงขั้น ไม่เผาผีกัน

ข้อพิพาท “ศึกสายเลือด” ดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเป็นข่าวใหญ่ในสื่อจำนวนมาก แต่ละฝ่ายของคู่กรณีก็นำเหตุผลมาโจมตีอีกฝ่าย และ ป้องกันตัวเองเต็มที่ เป็นที่โด่งดังไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่จังหวัดตรัง ที่เป็นรากฐานของธุรกิจตระกูลนี้มายาวนาน 2 ชั่วอายุคน นับแต่ยุคผู้ก่อตั้ง นายโต๋ว ง่วนเตียว และนางยิ่ง โตทับเที่ยง ผู้วางรากฐานให้แบรนด์ปลากระป๋อง ปลายิ้ม ที่นายสุรินทร์เสมือนหนึ่งเป็น “ตัวเปิด” ของคนในตระกูล

 การเข้าถือหุ้นใน POMPUI ของ KTB นี้ จะมีส่วนทำให้สัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายอื่นถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ คำถามคือ จะทำให้ศึกสายเลือดยุติลง หรือ เร่งให้ระอุบานปลายมากขึ้น…ยังไม่มีคำตอบ

เอาเป็นว่างานนี้ “…ยังไม่จบง่าย…ละกัน”

ความหวังจะกลับมาเทรด ที่ดูง่ายๆ จากแค่วิศวกรรมการเงิน… ก็ยังคงเป็นปริศนาต่อไป

“…อิ อิ อิ…”

Back to top button